ประวัติ ของ สำนักพระราชวัง

สมัยกรุงศรีอยุธยา

สำนักพระราชวังเป็นส่วนราชการที่สืบเนื่องมาจากส่วนราชการสำคัญของบ้านเมืองมาแต่โบราณกาล มีหลักฐานที่อาจทบทวนย้อนไปได้ถึงพุทธศักราช 1893 ในปีนั้นสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองในราชธานีเป็นสี่กรม หรือที่เรียกว่าจตุสดมภ์ ได้แก่

  1. กรมเมือง (หรือเวียง) มีหน้าที่ปกครองท้องที่ดูแลสันติสุขของประชาราษฎร
  2. กรมวัง มีหน้าที่ดูแลฝ่ายพระราชสำนัก รวมทั้งพิพากษาถ้อยความของราษฎรเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของประมุขในหน้าที่พระราชทานความยุติธรรมไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน
  3. กรมคลัง มีหน้าที่ดูแลรับจ่ายผลประโยชน์ของแผ่นดิน
  4. กรมนา มีหน้าที่ดูแลการทำไร่ทำนา รักษาเสบียงอาหารสำหรับพระนคร

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2438 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิรูปการปกครองราชอาณาจักร แบ่งส่วนราชการระดับกระทรวงให้เป็นไปตามความจำเป็น และเหมาะสมแก่การปกครองประเทศยิ่งขึ้น กระทรวงเดิมในแบบจตุสดมภ์ทั้ง 6 ก็ให้คงอยู่ เพิ่มกระทรวงในหน้าที่ที่สมควรใหม่อีก 4 กระทรวง รวมเป็น 12 กระทรวงแต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการ

จากการปฏิรูปการปกครองในประเทศในครั้งนี้เอง โปรดเกล้าฯ ให้ส่วนราชการที่มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในพระราชสำนัก ซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่า กรมวัง หรือ จตุสดมภ์กรมวัง เป็นกระทรวงมีชื่อว่า กระทรวงวัง แต่โปรดเกล้าฯ ให้โอนงานที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรมที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ ดังนั้นส่วนราชการในจตุสดมภ์กรมวังที่มีชื่อว่า กรมพระตำรวจหลวงว่าความฎีกา อันเป็นกรมหนึ่ง ซึ่งสมัยก่อน ๆ ถือว่าเป็นส่วนราชการที่มีความสำคัญมากถึงกับในบางรัชกาลต้องโปรดเกล้าฯ ให้พระราชโอรสที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยที่สุดไปทรงกำกับราชการอยู่ เช่น ในรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอฯ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ไปทรงกำกับราชการอยู่นั้น จึงสูญไปจากทำเนียบราชการแต่นั้นมา

เสนาบดีกระทรวงวังตามแผนปฏิรูปการปกครองใหม่ในครั้งนั้น ตัวเสนาบดีมิใช่สามัญชน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็น พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีจตุสดมภ์กรมวังอยู่ก่อนแล้ว เป็นเสนาบดีกระทรวงวังตามระบบการปกครองที่ปฏิรูปใหม่ จึงนับได้ว่าทรงเป็น "เสนาบดีกระทรวงวังพระองค์แรก"

การตั้งเสนาบดีกระทรวงในรัชกาลที่ 5 นั้น จะเห็นได้ว่าทรงพระราชดำริว่ากระทรวงวังนั้นสำคัญและปฏิบัติงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทมาก จึงทรงเลือกสรรพระราชวงศ์ขึ้นดำรงตำแหน่งเสนาบดีสืบต่อกันมาหลายพระองค์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ เครื่องหมายราชการแห่งกระทรวงวังในอดีต

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงส่วนราชการต่าง ๆ ในกระทรวงวัง เพื่อให้เกิดความเหมาะสมแก่ราชการในพระองค์หลายประการ เช่น โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะกรมมหาดเล็กหลวง ในกระทรวงวังขึ้นเป็นกรมอิสระ ขึ้นตรงต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีผู้สำเร็จราชการมหาดเล็ก (เจ้าพระยารามราฆพ) เป็นผู้บังคับบัญชา มีกรมต่าง ๆ ที่หัวหน้ากรมเป็นข้าราชการขั้นอธิบดีขึ้นอยู่ 13 กรม ได้แก่

  1. กรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก
  2. กรมชาวที่
  3. กรมมหรสพ
  4. กรมเรือยนต์หลวง
  5. กรมรถยนต์หลวง
  6. กรมพระอัศวราช
  7. กรมแพทย์หลวง
  1. กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
  2. กรมตรวจมหาดเล็ก
  3. กรมมหาดเล็ก
  4. กรมช่างมหาดเล็ก
  5. กรมโขนหลวง
  6. กรมพิณพาทย์กลาง

ส่วนทางกระทรวงวังก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีกรมขึ้น 20 กรม ได้แก่

  1. กรมบัญชาการ
  2. กรมสารวัตรในพระราชสำนัก
  3. กรมทะเบียน
  4. กรมปลัดบัญชี
  5. กรมคลังราชการ
  6. กรมพระราชพิธี
  7. กรมภูษามาลา
  8. กรมสนมพลเรือน
  9. กรมวัง
  10. กรมรองาน
  1. กรมช้างต้น
  2. กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์
  3. กรมทหารรักษาวัง
  4. กรมพระนิติศาสตร์
  5. กรมศิลปากร
  6. กรมธรรมการ
  7. กรมสังฆการี
  8. กรมกัลปนา
  9. กรมราชบัณฑิต
  10. กรมวังในพระราชสำนักพระพันปีหลวง

กรมในกระทรวงวังก็ดี กรมในมหาดเล็กก็ดี แม้หัวหน้ากรมจะมีฐานะเป็นอธิบดี แต่ก็มีหลายกรมเรียกชื่อเป็นอย่างอื่น เช่น

  • กรมบัญชาการกลางมหาดเล็ก (หัวหน้ากรมมีตำแหน่งเป็นปลัดบัญชาการ)
  • กรมอื่น ๆ ในสังกัดกรมมหาดเล็ก (หัวหน้ากรมมีตำแหน่งเป็นจางวาง ต่อท้ายตำแหน่งด้วยนามกรม) เช่น "กรมชาวที่" เรียกว่า จางวางกรมชาวที่ ยกเว้น "กรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์" เรียกตำแหน่งหัวหน้ากรมว่า ผู้บัญชาการโรงเรียนในกรมพระบรมราชูปถัมภ์

กรมในสังกัดกระทรวงวัง

  • กรมบัญชาการ (หัวหน้ากรมมีตำแหน่งเป็นปลัดบัญชาการ)
  • กรมวัง กรมพระราชพิธี กรมตำรวจรักษาพระองค์ กรมพระนิติศาสตร์ (หัวหน้ากรมมีตำแหน่งเป็นสมุห) โดยเรียกกันดังนี้
    • สมุหพระราชมณเฑียร คือ อธิบดีกรมวัง
    • สมุหพระตำรวจหลวง รักษาพระองค์ คือ อธิบดีกรม พระตำรวจหลวงรักษาพระองค์
    • สมุหพระราชพิธี คือ อธิบดีกรมพระราชพิธี
    • สมุหพระนิติศาสตร์ คือ อธิบดีกรมพระนิติศาสตร์
    • สมุหบัญชีใหม่ คือ อธิบดีกรมปลัดบัญชี

กรมอื่นนอกจากนี้

  • กรมใหญ่เรียกหัวหน้ากรมว่า อธิบดี
  • กรมเล็กเรียกหัวหน้ากรมว่า เจ้ากรม

แต่ที่เรียกว่าผู้อำนวยการกรมก็มี นอกจากนั้นยังพระราชทานเกียรติยศแก่ กรมตำรวจหลวงรักษาพระองค์ กรมทหารรักษาพระองค์และกรมทหารรักษาวัง โดยทรงรับเข้าดำรงตำแหน่ง "สมเด็จพระตำรวจ" ในกรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์ และตำแหน่ง "ผู้บังคับการพิเศษ" ในกรมทหารรักษาวังด้วย

สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังนั้น ก็ยังคงใช้ราชทินนามบุคคลผู้เป็นเจ้ากระทรวงว่า "ธรรมธิกรณาธิบดี" อันเป็นราชทินนามที่สืบเนื่องมาแต่ "ธรรมาธิการ" ครั้งยังเป็นจตุสดมภ์อยู่ แม้ว่าจะได้แยกหน้าที่การพิจารณาพิพากษาอรรถคดี อันเป็นหน้าที่เดิมของจตุสดมภ์กรมวังไปเป็นหน้าที่ของกระทรวงยุติธรรมดังกล่าวมาแล้วก็ตาม

รัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดกล้าฯ ให้โอนกรมธรรมการ กรมสังฆการี กรมราชบัณฑิต กรมกัลปนา และกรมศิลปากร ไปสังกัดกระทรวงธรรมการ และยุบฐานะกรมมหาดเล็กหลวงซึ่งแยกไปเป็นกรมพิเศษในรัชกาลที่ 6 ลงเป็นกรมสามัญสังกัดกระทรวงวังตามเดิม

ต่อมาเมื่อประเทศสยามได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงประกาศพระบรมราชโองการ ณ วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ให้เปลี่ยนชื่อ "กระทรวงวัง" เป็น "ศาลาว่าการพระราชวัง" แต่ครั้งถึงวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 ก็กลับมามีฐานะเป็นกระทรวงขึ้นใหม่ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พุทธศักราช 2476 และมี "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัง" เป็นเจ้ากระทรวง ซึ่งในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรมฉบับดังกล่าวนี้ ได้ตัดทอนส่วนราชการในกระทรวงวังออกเหลือ 7 กรม ได้แก่

  1. สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี
  2. สำนักงานปลัดกระทรวง
  3. กรมทหารรักษาวัง
  4. กรมพระคลังข้างที่
  5. กรมมหาดเล็กหลวง
  6. กรมราชเลขานุการในพระองค์
  7. กรมวัง

สำนักพระราชวัง

ต่อมาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ได้มีพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2478 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้เอง ได้เปลี่ยนฐานะของกระทรวงวังลงเป็นทบวง มีฐานะเป็นกรม เทียบเท่าทบวง มีชื่อว่า "สำนักพระราชวัง" และให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีโดยตรง มีเลขาธิการพระราชวัง (ระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง) รับผิดชอบในการบริหารราชการ สำหรับกรมในสังกัดก็ยุบลงเป็นกองบ้าง แผนกบ้าง เว้นบางกรมไปสังกัดกระทรวงอื่น เช่น

นอกจากนี้ยังได้โอนราชการในหน้าที่ต่าง ๆ อีกหลายหน้าที่ไปสังกัดกรมอื่น เช่น โอนงานในหน้าที่การช่างที่เรียกว่า "กรมวังนอก" ตลอดจนงานที่เกี่ยวกับนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ อันได้แก่กองพิณพาทย์หลวง กองดุริยางค์หลวง โขนหลวงและละครหลวง ไปสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงธรรมการ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงศึกษาธิการ)

เมื่อได้ยุบกระทรวงวังเป็นสำนักพระราชวังแล้ว ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการตามความจำเป็นและเหมาะสมแก่การปฏิบัติภารกิจหลายครั้ง ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ยังทรงพระเยาว์และประทับอยู่ในต่างประเทศ ได้มีการพิจารณาเห็นว่าภารกิจของสำนักพระราชวังมีน้อย ก็ปรับปรุงหนักไปทางตัดทอน ครั้นต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร บรรลุพระราชนิติภาวะ และเสด็จฯ นิวัติมาประทับในราชอาณาจักรเป็นการถาวรเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2494 และได้บริหารราชการในฐานะพระประมุขแล้ว รัฐบาลก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพให้มากขึ้น เพื่อเพียงพอที่จะสนองรองรับพระราชกรณียกิจได้

ตามพระราชกฤษฎีกาจัดวางระเบียบราชการในสำนักพระราชวังและสำนักราชเลขานุการในพระองค์ พุทธศักราช 2478 ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2478 ได้กำหนดให้มีกองในสังกัด 4 กอง ได้แก่1. สำนักงานเลขานุการ (4 แผนก)

  • แผนกสารบรรณ
  • แผนกหมายและทะเบียน
  • แผนกคลัง
  • แผนกพัสดุ

2. กองมหาดเล็ก (3 แผนก)

  • แผนกกลาง
  • แผนกรับใช้
  • แผนกชาวที่

3. กองวังและพระราชพิธี (3 แผนก)

  • แผนกตำรวจวัง
  • แผนกพระราชพิธี
  • แผนกพระราชพาหนะ

4. สำนักงานพระคลังข้างที่ (ไม่มีการแบ่งหน่วยงานในสังกัด)

ต่อมาได้มีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2560[5] ให้มีการจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ และมีพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 กำหนดให้มี "สำนักพระราชวัง" มีหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระองค์ทั่วไป การเลขานุการในพระองค์ การจัดการพระราชวังและงานพระราชพิธี การดูแลรักษาทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์และการอื่นตามพระราชอัธยาศัย[6]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: สำนักพระราชวัง http://www.palaces.thai.net/index_brh.htm http://www.palaces.thai.net/new/brh/about/brh_stat... http://www.brh.thaigov.net http://www.brh.thaigov.net/information/infor/a/a4/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0013933... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2439/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2441/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2448/01...