ประวัติสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร ของ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร_จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จากวิกฤตด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยและในโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษาซึ่งมีการจัดการศึกษาทุกศาสตร์ทุกระดับการศึกษา มีรายวิชาที่จำเป็นสำหรับการให้ความรู้กับกระบวนการผลิตอาหารและการเกษตรทุกขั้นตอน มีความพร้อมด้านบุคลากรและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ปัญหาและยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น จึงถือเป็นความพร้อมของมหาวิทยาลัยที่จะสร้าง “นวัตกรรม” โดยกำหนดให้ “วิกฤตการณ์ด้านอาหารและการเกษตร” เป็นโจทย์ปัญหาแรกของระบบการเรียนการสอนทางเลือกใหม่ที่มหาวิทยาลัยจะสร้างขึ้นสำหรับการอุดมศึกษาในอนาคต ที่ประชุมสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในคราวการประชุมครั้งที่ 703 เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2551 จึงมีมติให้ฝ่ายบริหารดำเนินการจัดทำให้มีความชัดเจนในรูปแบบของวัตถุประสงค์ เป้าหมาย แผนการดำเนินงาน การบริหารจัดการและงบประมาณ เพื่อนำเสนอสภามหาวิทยาลัยให้พิจารณาต่อไป ในปีต่อมาจึงได้ข้อสรุปว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็น “ต้นแบบของการผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่” ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ทักษะ และจิตวิญญาณ จนสามารถผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการสินค้าเกษตรเข้าสู่สังคมไทย สภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการประชุมสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 715 วันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2552 จึงได้มีความเห็นชอบให้มี “คณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร” และจัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร” ขึ้นในมหาวิทยาลัย จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2557 มีการปรับฐานะของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตรเป็น “สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร” เพื่อให้ทำหน้าที่อย่างเต็มรูปแบบในการจัดการศึกษา วิจัย และบริการวิชาการในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรการเกษตร ที่ครอบคลุมได้ในสาขาที่เกี่ยวข้องกว้างกว่าการบริหารจัดการ และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงวันที่ 19 มีนาคม 2557[1]

ใกล้เคียง

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ไทย) สำนักพระราชวัง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานสอบสวนกลาง สำนักนายกรัฐมนตรี (ประเทศไทย) สำนักงานราชบัณฑิตยสภา สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ สำนักข่าวไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ