การตีความ ของ สุขาวดี

แต่เดิมนิกายสุขาวดีถือว่าสุขาวดีเป็นพุทธเกษตรที่ดำรงอยู่จริง ๆ ทางกายภาพ และมีลักษณะดังที่พระสูตรได้อธิบายไว้ ต่อมามีการผสมผสานความเชื่อของนิกายนี้เข้ากับนิกายเซน ทำให้แนวคิดสุขาวดีถูกอธิบายในเชิงธรรมาธิษฐาน[3] ว่าแท้จริงแล้วสุขาวดีเป็นเพียงแดนที่ถูกสมมติขึ้น เพื่อเป็นอุบายให้พุทธศาสนิกชนใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจว่าการหลุดพ้นจากทุกข์ไม่ใช่เรื่องยากลำบากเกินไป การระลึกถึงพระอมิตาภะและพระโพธิสัตว์ต่าง ๆ ในสุขาวดีก็เพื่อเป็นอุบายให้นักปฏิบัติปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนของตน พระอมิตาภะแท้จริงหมายถึงธรรมชาติพุทธะที่มีอยู่ในตัวคนทุกคนอยู่แล้ว การระลึกถึงพระอมิตาภะก็เพื่อน้อมนำจิตของผู้นั้นให้กลับก้าวไปสู่ความเป็นพุทธะต่อไป และแดนบริสุทธิ์สุขาวดีถูกตีความใหม่เป็นภาวะที่จิตที่บริสุทธิ์ที่มีอยู่แล้วในจิตของสรรพสัตว์ทั้งหลาย การปฏิบัติต่าง ๆ จึงทำเพื่อน้อมจิตให้กลับไปสู่สภาพบริสุทธิ์ดั้งเดิม[4]การสวดพระนามพระอมิตาภะกลายเป็นการปฏิบัติสมาธิรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับการรักษาศีลและศึกษาพระธรรม