การทำงาน ของ สุด_แสงวิเชียร

เมื่อจบการศึกษาแล้ว พ.ศ. 2474 ท่านเข้ารับราชการเป็นอาจารย์แผนกกายวิภาคศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุนมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ไปศึกษาต่อทางกายวิภาคศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา และได้กลับมาเป็นอาจารย์ที่แผนกกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2476-2513 ในระหว่างเหตุการณ์กรณีสวรรคต นั้น ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกกายวิภาคศาสตร์ และได้เข้าร่วมเป็นแพทย์ผู้ชันสูตรพระบรมศพ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ศิริราช

ท่านได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคนที่ 9 ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างปี พ.ศ. 2511 - 2512 เมื่อเกษียณอายุแล้วก็ยังช่วยสอนที่นี่ทุกวันจนถึง พ.ศ. 2536 จนไปทำงานเฉพาะวันพุธ วันละ 4 ชั่วโมง จากปัญหาสุขภาพ จนเสียชีวิต และได้สั่งครอบครัวไว้ให้มอบร่างกายของท่านแก่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ภายหลังบำเพ็ญกุศลแล้ว ปัจจุบันได้แขวนโครงกระดูกไว้ให้นิสิตนักศึกษาแพทย์ใช้ประกอบการศึกษาที่ตึกกายวิภาคศาสตร์

ท่านมีผลงานโดดเด่นทางด้านวิทยาเอ็มบริโอ ด้านจุลกายวิภาคศาสตร์ ด้านมหกายวิภาคศาสตร์ (การดองศพ) ท่านมีผลงานวิจัยมากกว่า 250 เรื่อง เป็นหัวหน้าแผนกที่สามารถทำให้แผนกกายวิภาคศาสตร์เจริญก้าวหน้า โดยเฉพาะงานด้านพิพิธภัณฑ์ เป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กายวิภาคศาสตร์คองดอน(เป็นเกียรติแก่ ศ.คองดอน) เมื่อ พ.ศ. 2491 ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลก ที่มีระบบประสาทและระบบหลอดเลือดแดงทั้งตัว

ศ.นพ.สุด เคยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พ.ศ. 2516[1]