การทำงาน ของ สุรเกียรติ์_เสถียรไทย

งานการศึกษา

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เคยร่วมสอนกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กับ ศาสตราจารย์เฟรดเดอริก สไนเดอร์ ในระดับปริญญาโท ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ริเริ่มหลักสูตรกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการวิจัยสหสาขาระหว่างนิติศาสตร์และสาขาอื่นๆที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเคยดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนาเป็นคนแรก และคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นศาสตราภิชานของคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5 วาระติดต่อกัน และได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษ สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เคยดำรงตำแหน่งนักวิชาการอาวุโสของ Harvard Law School และ Kennedy School of Government มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา เป็น Visiting Professor ของมหาวิทยาลัย Brown สหรัฐอเมริกา และ Member of the Advisory Council, Global Law and Policy Institute, Harvard Law School, U.S.A. และ Member of Asian Advisory Group of the Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University สหรัฐอเมริกา

งานการเมือง

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา (ครม.51) และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรองนายกรัฐมนตรี[3] และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งได้ริเริ่มกรอบความร่วมมือต่างๆในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและในภูมิภาคเอเชีย เช่น ACMECS และ ACD

งานองค์การระหว่างประเทศ

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ได้รับเลือกจากประเทศในเอเชียให้เป็นประธานสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งเอเชีย (President of Asia Society of International Law (ASIL)) ระหว่างปี (2557-2558)[4] และ ได้รับเลือกจากสมาชิก 24 ท่านของคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย (Asian Peace and Reconciliation Council : APRC) ให้เป็นประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย ในวาระ 5 ปี 2 วาระ (พ.ศ. 2555-2560 และ พ.ศ. 2561-2566) ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยลดความขัดแย้งและส่งเสริมสันติภาพในภูมิภาคเอเชีย[5][6], ได้รับเลือกเป็นกรรมการของการประชุมโบอ่าว (Boao Forum for Asia) สองสมัยจนถึงปัจจุบัน, ได้รับเลือกเป็นกรรมการผู้นำเพื่อสันติภาพ (Leaders for Peace), ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมการวิสัยทัศน์นิติธรรม 2030 และเป็นประธานร่วมกับอดีตประธานาธิบดี จิมมี่ คาร์เตอร์ ของสหรัฐอเมริกา ในคณะสังเกตการณ์การเลือกตั้งในประเทศเนปาล (พ.ศ. 2551, พ.ศ. 2556 และ พ.ศ. 2560) เป็นต้น

งานสังคม

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รองประธานที่ปรึกษาและประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งมีสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เป็นองค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯ และมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ องค์นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ตั้งมา 25 ปี ซึ่งได้มีกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนด้านอุทกภัย การเฝ้าระวังภัยและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืน เป็นประธานมูลนิธิส่งเสริมนักกฎหมายธุรกิจ รองประธานมูลนิธิพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ณ ป้อมพระจุลจอมเกล้า ประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดหาทุนอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษามหาราชินี สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (พ.ศ. 2555 ถึงปัจจุบัน) เป็นต้น

ในอดีตเคยเป็นประธานมูลนิธิสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์, ประธานมูลนิธิศาลาเฉลิมกรุง ซึ่งอนุรักษ์พัฒนาวัฒนธรรมการแสดงโขนและวัฒนธรรมของไทย, ประธานคณะกรรมการการจัดหาทุนโครงการผ่าตัดหัวใจให้คนยากจนเทิดพระเกียรติในหลวงทั่วหล้า 84 พรรษามหาราชา (พ.ศ. 2554)

งานธุรกิจ

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็นผู้ก่อตั้งสำนักกฎหมายสากลสยามพรีเมียร์ เมื่อปีพ.ศ. 2533 นอกจากนี้เป็นผู้มีบทบาทหลักในการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทสัญญาซื้อก๊าซธรรมชาติ (Take or Pay) ระหว่างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยกับกลุ่มผู้ผลิตก๊าซในเมียนม่าร์ ซึ่งผลการเจรจาเป็นผลให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไม่ถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีความ นอกจากนี้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ในปีพ.ศ. 2540 ในฐานะประธานกรรมการ ได้นำบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) ไป Roadshow ในต่างประเทศ จนประสบความสำเร็จในการออกหุ้นเพิ่มทุนแม้อยู่ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และยังเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเจรจากับเจ้าหนี้ต่างประเทศเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูกิจการให้บริษัท ไทยออยล์ จำกัด ในฐานะประธานคณะผู้นำแผนและ ประธานคณะผู้บริหารแผน จนประสบความสำเร็จเป็นบริษัทแรกของไทยหลังวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 จึงเป็นผลดีต่อบริษัทที่รัฐบาลมีหุ้นใหญ่ให้เจริญก้าวหน้าได้มั่นคง และปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาให้บริษัทเอกชนต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศหลายแห่ง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ไทย)

    1) มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)    2) มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)    3) ปฐมดิเรกคุณาภรณ์ (ป.ภ.)    4) ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.)    5) เหรียญกาชาดสมนาคุณ ชั้นที่ 1    6) เหรียญลูกเสือสดุดีชั้นที่ 1

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (ต่างประเทศ)

    1) The Most Honourable Order of Seri PadukaMahkota Brunei (class S.P.M.B.) (Brunei Darussalam) 2002    2) Commander Grand Cross (Sweden) 2003    3) Grand Cross of the Order of Orange-Nassau (Netherlands) 2004    4) Bahrain Decoration First Class (Bahrain) 2004    5) The Royal Order of Sahametrei – Grand Officer (Cambodia) 2002    6) The Congressional Medal of Achievement, (Philippines) 2006

ใกล้เคียง

สุรเกียรติ์ เสถียรไทย สุรเกียรติ บุนนาค สุรเชษฐ์ หักพาล สุรเดช พินิวัตร์ สุรกิจ มัยลาภ สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สุรเดช ทับทิมใส สุรเทิน บุนนาค สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ สุรเชษฐ์ แวอาแซ