งานสร้างและการตีความ ของ สู่ฝันอันยิ่งใหญ่


ในการแสดงครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2530 ทีมงานได้อธิบายแนวคิดในการสร้างละครเรื่อง สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ ไว้ว่า

“...ความทะเยอทะยานของเราไม่ได้เริ่มต้นจากจุดที่ว่า เราต้องการทำละครใหญ่ที่ต้องลงทุนมาก ต้องไปเอาผู้เชี่ยวชาญมือรางวัลมาจากเมืองนั้นเมืองนี้ เราคิดเริ่มต้นมาจากจุดที่ว่า โอ้โฮ...ละครเรื่องนี้น่าทำ ทำแล้วจะต้องออกมาเป็นละครที่ดี จากพื้นฐานของบทที่ดี แล้วก็ในขณะที่อ่านนั้น มันเห็นภาพว่าจะต้องดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ทำให้เกิดความฝันที่จะให้ภาพที่เห็นในใจเรานั้นปรากฏขึ้นมาบนเวที เพื่อที่คนอื่นจะได้มาร่วมอยู่ในความฝันนั้น ในเสียงเพลงและในการแสดงเหล่านั้นที่เราเห็น อยากจะให้มาร่วมรับรู้ด้วยกัน ได้รสชาติอย่างเดียวกับที่เราได้เมื่ออ่านบทละคร เราอยากจะถ่ายทอดความประทับใจอันนั้นออกไปสู่คนดู มันเริ่มที่จุดนี้ต่างหาก...” (รัศมี เผ่าเหลืองทอง ที่ปรึกษาด้านบทละคร)

“...เรื่องนี้เป็นละครซ้อนละคร เป็นการผสมผสานที่มีเสน่ห์มากระหว่างความเป็นจริงกับความใฝ่ฝัน ระหว่างความเป็นเรียลลิสติกกับโรแมนติก เป็นสไตล์ซ้อนที่กลับไปกลับมา เพราะฉะนั้น งานของเราก็คือจะสื่ออย่างไรให้คนดูได้ระดับความคิดเช่นนี้ทั้งสองระดับ ทำอย่างไรให้เรียลลิสติกกับโรแมนติกเจอกันพอดี แล้วเรื่องนี้ยังเป็นละครเพลง เป็นรูปแบบละครที่รวมการแสดงหลายๆ อย่าง นับตั้งแต่การแสดง เต้นรำ และร้องเพลง รวมทั้งดนตรีเข้ามาด้วย เราต้องผสมผสานศิลปะเหล่านี้เข้ากันเพื่อให้ความบันเทิงกับคนดู และขณะเดียวกันก็สามารถสื่อสาระของละครได้ด้วย...” (ยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับการแสดง)

“...เป็นการเอาความลึก ความกว้าง และความสูงของโรงละครแห่งชาติมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ด้านจินตนาการ...เกือบจะเปลือยโรงละคร ไร้มิติ ไร้เวลา ไร้สถานที่ จะขยายขอบเขตของโรงละครออกไปอย่างที่คนดูไม่เคยเห็น จากนั้นจะค่อยๆ สร้างขอบเขตของเวทีด้วยองค์ประกอบด้านฉากและแสง เพื่อเสริมความเปลี่ยนแปลงของฉากที่เปลี่ยนไปในแต่ละองก์ แล้วก็กลับไปสู่ความกว้าง ลึก สูง ของคุกใต้ดิน ซึ่งกว้าง ลึก และสูง อย่างไร้มิติ ไร้เวลา และไร้สถานที่...” (บุรณี รัชไชยบุญ ผู้กำกับเทคนิค) [1]

แนวทางต่างๆ เหล่านี้ ก็ยังคงเป็นแนวคิดหลักเมื่อนำ “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” กลับคืนสู่เวทีอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2551