การกระโดด ของ สเกตลีลา

การกระโดดในสเกตลีลา นั้นเป็นกระบวนการเริ่มตั้งแต่การโดยลอยตัวขึ้น หมุนตัวกลางอากาศ และ การลงสัมผัสพื้น การกระโดดนั้นมีหลายประเภท แยกออกโดย ท่าทางของการกระโดดขึ้น การลงสัมผัสพื้น และ จำนวนรอบของการหมุนตัวกลางอากาศ

นักสเกตโดยส่วนใหญ่นิยมหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา แต่ก็มีบางคนที่หมุนตัวตามเข็มนาฬิกา มีนักสเกตจำนวนน้อยคนที่จะหมุนตัวได้ทั้งสองทิศทาง ดังนั้นการอธิบายถึงลักษณะการกระโดดด้านล่างนี้ จะใช้หมายถึงการกระโดดเพื่อหมุนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา

การกระโดดในสเกตลีลามีอยู่ 6 ประเภทหลัก โดยการกระโดดทั้ง 6 ปรเภทนี้จะลงสัมผัสพื้น บนคมมีดด้านนอกของเท้าขวา (สำหรับการหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา ทั้งแบบรอบเดียว หรือ หลายรอบ) แต่แตกต่างกันตอนกระโดดขึ้น ลักษณะของการกระโดดขึ้นสามารถแยกได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ การกระโดดใช้ปลายเท้า (toe jumps) และ การกระโดดใช้คมมีด (edge jumps) (รายละเอียดด้านล่างอธิบายถึง การกระโดดหมุนตัวทวนเข็มนาฬิกา ส่วนการหมุนตัวตามเข็มนาฬิกานั้นจะสลับข้างกัน)

การกระโดดแบบใช้ปลายเท้า หรือโทจัมพ์ (Toe Jumps) หรือการกระโดดโดยใช้โทพิก

  1. โทลูป (Toe loop (T)) เริ่มออกตัวกระโดดจากการไถลไปด้านหน้า แล้วทำการกลับตัวด้วยเท้าขวา นิยมโดยการกลับตัวแบบทรีเทิร์น (3 Turn) ไปด้านหลัง จากคมมีดด้านนอกของเท้าขวา แล้วใช้โทพิกส์เท้าซ้ายจิกพื้นช่วยในการออกตัว บางครั้งนักกีฬาสามารถกลับตัวด้วยเท้าซ้ายก่อน แล้ววางเท้าขวาลงไปขณะเดียวกับที่เคลื่อนเท้าซ้ายออกด้านหลังแล้วจึงค่อยยกเท้าซ้ายขึ้นจิกฟื้นออกตัวเล่นเดิมก็สามารถทำได้ ซึ่งลักษณะเช่นนี้มักแสดงให้เห็นกับนักกีฬาในยุคปัจจุบันมากกว่าการกลับตัวด้วยเท้าขวาแบบแรก ปัจจุบันนักกีฬาชายและหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ และมีนักกีฬาชายชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 4 รอบได้ในการแข่งขัน แต่นักกีฬาหญิงยังไม่มีผู้ใดใช้การหมุน 4 รอบในการแข่งขัน หากแต่ด้วยความเข้มงวดของกติกา และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการแข่งขัน ทำให้ผู้ควบคุมทางเทคนิคการเล่น สามารถหักคะแนนความสมบูรณ์ของจำนวนรอบ (Underrotation) ที่ไม่ครบวงรอบได้ง่าย ซึ่งการหักคะแนนลักษณะนี้จะทำให้ผลคะแนนต่ำลงอย่างมาก จึงทำให้ปัจจุบันมีความนิยมน้อยลงสำหรับนักกีฬาชายเนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะถูกลดคะแนนพื้นฐานประจำท่า (Base Value)
  2. ฟลิป (Flip (F)) ออกตัวกระโดดจากด้านหลัง ทรงตัวด้วยคมมีดด้านในของเท้าซ้าย และ ใช้โทพิกส์เท้าขวาช่วยในการออกตัว ปัจจุบันมีนักกีฬาหญิ่งคนเดียวชื่อ Tonya Harding จากประเทศสหรัฐอเมริกาที่สามารถทำการหมุน 4 รอบสำหรับท่ากระโดดนี้ในการแข่งขันโอลิมปิกปี 1991
  3. ลัทซ์ หรือ ลุตซ์ (Lutz (Lz)) ออกตัวกระโดดจากด้านหลัง ทรงตัวด้วยคมมีดด้านนอกของเท้าซ้าย และ ใช้โทพิกส์เท้าขวาช่วยในการออกตัว ปัจจุบันนักกีฬาชายและหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ และมีนักกีฬาชายผู้เดียวคือ เยฟกินี ปูเชงโก (Evgeni Plushenko) นำสามารถกระโดดหมุน 4 รอบในการแข่งขันเพียงครั้งเดียวที่ประเทศรัสเซีย หากแต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่นักประวัติศาสตร์กีฬาสเกตลีลา เนื่องด้วยการกระโดดครั้งนั้นยังไม่สมบูรณ์แบบ ปัจจุบันจึงยังถือว่าการกระโดดท่านี้ ยังไม่มีผู้ใดสามารถกระโดด 4 รอบได้สำเร็จ และท่านี้ยังถือเป็นท่ากระโดดที่มีคะแนนพื้นฐานประจำท่า (Base Value) ตามกติกาใหม่สูงที่สุดในจำนวนท่าทั้งหมดของการโดดแบบใช้ปลายเท้าหรือ โทจัมพ์ อีกด้วย

การกระโดดใช้คมมีด หรือเอดจ์จัมพ์ (Edge jumps) นั้นจะไม่มีการใช้โทพิกส์ช่วยในการกระโดด ซึ่งหมายถึงนักกีฬาจะโดดขึ้นโดยใช้ใบมีดส่งตัวขึ้นเท่านั้นแบ่งออกเป็น

  1. ซาลคาว (Salchow (S)) เริ่มออกตัวกระโดดจากการไถลไปด้านหลัง (มักมีการเปลี่ยนการเคลื่อนที่จากด้านหน้าด้วยการกลับตัวแบบ ทรีเทิร์น หรือ โมฮอกค์เทิร์น) จากคมมีดด้านในของเท้าซ้าย และใช้การเหวี่ยงขาที่เหลืออีกข้างเป็นวง ช่วยในการออกตัวกระโดด ปัจจุบันนักกีฬาชายและหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ และมีนักกีฬาชายชั้นนำบางคนสามารถกระโดดหมุน 4 รอบได้ ส่วนนักกีฬาหญิงที่สามารถกระโดดหมุน 4 รอบได้ในการแข่งขันระดับนานาชาติมีคนเดียวคือ อันโดะ มิกิ (Miki Ando) แต่ไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรในหมู่นักกีฬาชายหากเทียบกับการโดด 4 รอบของการโดดแบบ "โทลูป" แม้ว่าคะแนนของการโดดแบบซาลคาวจะต่ำที่สุด (ซึ่งหมายถึงเป็นท่าง่ายที่สุด) เมื่อเทียบกับการโดดท่าอื่นก็ตาม เนื่องจากการควบคุมวงรอบให้สมบูรณ์แบบนั้นยากกว่าท่า "โทลูป" จึงทำให้นักกีฬาไม่นิยมบรรจุท่านี้ไว้ในโปรกแกรมการแข่งขันของตน
  2. ลูป (Loop (Lp)) หรือ ริตซ์เบอร์เกอร์ (Rittberger) ตามชื่อผู้คิดค้นท่า หากแต่ปัจจุบันนิยมเรียกเพียง "ลูป" เท่านั้น เป็นออกตัวกระโดดทางด้านหลัง จากคมมีดด้านนอกของเท้าขวา และ ลงสัมผัสพื้นด้วยคมมีดเดียวกัน ปัจจุบันนักกีฬาชายและหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ยังไม่มีนักกีฬาคนใดสามารถกระโดดท่าชนิดนี้ 4 รอบในการแข่งขัน
  3. แอกเซิล (Axel (A)) เป็นท่าการกระโดดเดียวที่กระโดดจากการไถลตัวไปด้านหน้า โดยออกตัวจากคมมีดด้านนอกของเท้าซ้าย เนื่องจากการกระโดดเริ่มออกตัวจากการไถลไปด้านหน้า จึงมีรอบการหมุนตัวเพิ่มขึ้นอีกครึ่งรอบในความเป็นจริง ตัวอย่างเช่นนักกีฬาหญิงระดับชั้นนำจะนิยมโดดหมุน 2 รอบแต่ความเป็นจริงแล้ว นักกีฬาจะต้องหมุน 2 รอบครึ่งในอากาศ จึงทำให้การกระโดดแบบนี้ถือว่าเป็นการกระโดดที่ยากที่สุดในบรรดาการกระโดดทั้ง 6 แบบ การกระโดดในลักษณะเดียวกันนี้แต่หมุนตัวเพียงครึ่งรอบเรียกว่า การกระโดดแบบวอลทซ์ และโดยปกติจะเป็นท่ากระโดดท่าแรก สำหรับผู้เริ่มฝึกสเกต การโดดแบบวอลทซ์นี้ ไม่ถือว่าเป็นการโดดที่มีรอบสมบูรณ์ครบ 360 องศา หากเพียง 180 องศาเท่านั้น ในการแข่งขันจึงไม่ถือเป็นการกระโดด ถือว่าเป็นการกลับตัวชนิดหนึ่งเท่านั้นนักกีฬาบางคนจึงบรรจุท่าวอลทซ์นี้เป็นอีกหนึ่งท่าในการแสดงสเต็บเท้าในการแข่งขัน ปัจจุบันนักกีฬาชายชั้นนำส่วนมากกระโดดหมุน 3 รอบได้ และนักกีฬาหญิงชั้นนำสามารถกระโดดหมุน 2 รอบได้ ยังไม่มีผู้ใดที่กระโดดหมุน 4 รอบได้ ส่วนนักกีฬาหญิงที่สามารถกระโดดหมุน 3 รอบได้ในการแข่งขันระดับนานาชาติมีเพียง 5 คน ท่านี้ถือเป็นท่าบังคับตามกติกาใหม่ กำหนดให้นักกีฬาทุกคนต้องกระโดดอย่างน้อย 2 รอบในการแข่งขันระดับอาชีพ (Senior) ทั้งนักกีฬาชายและหญิง ทั้งในโปรแกรมสั้น และโปรแกรมยาว จะต้องมีการบรรจุท่านี้ในการแข่งขัน

นอกเหนือจากการกระโดดดังกล่าวข้างต้น ยังมีการกระโดแบบอื่นๆ ซึ่งปกติใช้ในการเล่นแบบเดี่ยว ใช้ในการเชื่อมโยงความต่อเนื่องระหว่างท่าต่างๆ หรือใช้ในการเน้นท่าก้าวต่อเนื่อง หรือ "สเต็บซีเคว้นซ์" (Step Sequences) ซึ่งตามกฎของ ISU จะมิได้พิจารณาคะแนนเช่นเดียวกับการกระโดดทั่วไป แต่จะนำไปพิจารณาในคะแนนของการก้าวเท้าต่อเนื่องแทน

  1. การกระโดดครึ่งลูป (Half loops) ออกตัวกระโดดด้วยคมมีดด้านนอกของเท้าขวาทางด้านหลัง เหมือนกับการกระโดดลูป แต่ลงสัมผัสพื้นบนคมมีดในด้านหลังของเท้าซ้าย บางครั้งนิยมนำเป็นท่าเชื่อมระหว่างการกระโดดแบบเป็นชุด (in sequence)
  2. การกระโดดวัลลีย์ (en:Walley jump) ออกตัวจากคมมีดในของเท้าขวาด้านหลัง ท่านี้อาจนับได้ว่าเป็นท่าที่ยากกว่าแอกเซิล เนื่องการทิศทางการเคลื่นที่ของคมมีดด้านในนั้นหมุนตามเข็มนาฬิกา ซึ่งสวนทางกับทิศทางการหมุนตัวในอากาศซึ่งทวนเข็มนาฬิกา
  3. การกระโดดสปลิต (Split jump) เป็นการกระโดหมุนตัวครึ่งรอบตามแบบ ฟลิป ลัทซ์ หรือ ลูป แต่ผู้เล่นจะยืดขาทั้งสองให้แยกออกจากกันให้มากที่สุด ซึ่งมักอยู่ที่ประมาณ 180 องศาระหว่างขาทั้งสอง
  4. การกระโดดแอกเซิลด้านใน (Inside axel) เป็นการกระโดดหมุนตัวหนึ่งรอบครึ่ง ที่ออกตัวกระโดดทางด้านหน้าจากคมมีดด้านในของเท้าขวา
  5. การกระโดดแอกเซิลขาเดียว (One-foot axel) เป็นการกระโดดหนึ่งรอบครึ่ง ด้วยการออกตัวแบบเอกเซิล ซึ่งเป็นการออกตัวกระโดดทางด้านหน้าจากคมมีดด้านนอกของเท้าซ้าย แต่ลงสัมผัสพื้นทางด้านหลังบนคมมีดด้านในของเท้าซ้าย

การกระโดดนั้น นอกจากจะแยกกระโดด แยกเป็นท่าเดี่ยว ๆ แล้ว ยังสามารถเป็น การกระโดดแบบต่อเนื่อง หรือ การกระโดดแบบเป็นชุด (in combination or in sequence) หลายท่าได้ โดยมากแล้วการกระโดดแบบเป็นชุด หรือ "คอมบิเนชัน" นั้น มักนิยมโดยการกระโดดใด ๆ ก็ได้ก่อนจากท่าหลักทั้ง 6 แล้วจึงกระโดดตามทันทีหลังจากเท้าขวาสัมผัสพื้นแล้ว โดยมักกระทำท่า โทลูป หรือ ลูป ตามเนื่องจากทั้งสองท่านี้จะกระโดดจากเท้าขวาอยู่แล้ว แต่หากถ้าต้องการกระโดดด้วยท่าที่ต้องกระโดดขึ้นจากเท้าซ้าย มักจะแสดงท่า "ครึ่งลูป" ทันทีที่เท้าขวาสัมผัสพื้นเพื่อปรับเท้าหลักให้ยืนด้วยเท้าซ้ายก่อนจะกระโดดท่าอื่นที่ต้องการต่อไป เรียกการกระโดดต่อเนื่องเช่นนี้ว่า "ซีเคว้นเซส" โดยการกระโดดแบบชุดนั้น นักกีฬาสามารถกระโดดต่อเนื่องกี่ครั้งก็ได้ ตามความสามารถของนักกีฬา ปัจจุบันมักจะพบเห็นการกระโดดแบบคอมบิเนชัน มากกว่าแบบ ซีเคว้นเซส ในการแข่งขัน และการกระโดดแบบเป็นชุดยังเป็นท่าบังคับในการแข่งขันโปรแกรมสั้นประเภทเดี่ยวด้วย