ประวัติ ของ สโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ซิตี

ยุคก่อตั้ง (ค.ศ.1899–1920)

สโมสรก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1899 ในชื่อ สโมสรฟุตบอลริเวอร์ไซด์[2] โดยการก่อตั้งสโมสรมีขึ้นที่บ้านของวอลเตอร์ บาร์ทลีย์ วิลสัน ซึ่งเป็นช่างทำภาพพิมพ์หินในเมืองคาร์ดิฟฟ์[3] เพื่อเป็นการรวมผู้เล่นจากสโมสรคริกเก็ตริเวอร์ไซด์ไว้ด้วยกัน ในช่วงแรกสโมสรแข่งขันกับทีมในละแวกท้องถิ่นใกล้เคียงที่สนามโซเฟีย การ์เดนส์ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะในบริเวณริเวอร์ไซด์ ย่านเก่าแก่และเป็นชุมชนแออัดของเมืองคาร์ดิฟฟ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1900 สโมสรได้เข้าร่วมการแข่งขันอย่างเป็นทางการครั้งแรกในคาร์ดิฟฟ์แอนด์ดิสตริกต์ลีก [4]

ในปี ค.ศ. 1905 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 แห่งสหราชอาณาจักร ได้ยกฐานะเมืองของคาร์ดิฟฟ์ขึ้นเป็นเมืองที่มีฐานะเป็นนครในสหราชอาณาจักร สโมสรจึงได้ยื่นเรื่องต่อสมาคมฟุตบอลเซาท์เวลส์และมอนมัทเชียร์เพื่อเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็นคาร์ดิฟฟ์ ซิตี[2] แต่คำขอในกรณีดังกล่าวไม่ผ่านการอนุมัติเนื่องจากสโมสรลงแข่งขันในระดับที่ต่ำเกินไป สโมสรจึงได้เข้าร่วมในเซาท์เวลส์ อเมเจอร์ลีก ในปี ค.ศ. 1907 และได้รับการอนุมัติให้เปลี่ยนชื่อสโมสรได้ในปีต่อมา[5][6]

เมื่อสโมสรมีความเติบโตและมีขนาดใหญ่ขึ้นจึงได้ไปขอเข้าร่วมแข่งขันในดิวิชัน 2 ของเซาเทิร์น ฟุตบอลลีก แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากสภาพสนามและสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามโซเฟีย การ์เดนส์ ไม่ผ่านมาตรฐาน หลังจากนั้นเป็นเวลากว่า 2 ปี สโมสรมีโอกาสได้เล่นฟุตบอลนัดกระชับมิตรกับสโมสรฟุตบอลจากประเทศอังกฤษอย่างมิดเดิลส์เบรอ, บริสตอล ซิตี และ คริสตัล พาเลซทำให้เป็นที่รู้จักในหมู่แฟนบอลมากขึ้น ต่อมาสโมสรได้ตัดสินใจสร้างสนามเหย้าเป็นของตนเองเพื่อที่จะสามารถไปแข่งขันในลีกที่ใหญ่กว่าเดิมได้โดยวอลเตอร์ บาร์ทลีย์ วิลสัน ผู้ก่อตั้งสโมสรได้หาพื้นที่สำหรับสร้างสนามใหม่ในคาร์ดิฟฟ์และบริเวณใกล้เคียง และมาได้ที่ดินสำหรับสร้างสนามแห่งใหม่จากข้อเสนอของจอห์น แมนเดอร์ สมาชิกสภาเทศบาลเมือง ที่เสนอให้ใช้ที่ดินบริเวณแทนยาร์ด เลน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างถนนสโลเปอร์และสถานีรถไฟ โดยบริเวณดังกล่าวเป็นที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์และใช้เป็นที่สำหรับเก็บรวบรวมขยะและบางส่วนสำหรับแบ่งให้เช่า[7]โดยเขาเสนอให้สโมสรใช้พื้นที่ดังกล่าวโดยคิดค่าเช่าเดือนละ 90 ปอนด์

ในการบูรณะพื้นที่เดิมที่ค่อนข้างเสื่อมโทรมและการก่อสร้างสนามแห่งใหม่นี้ขึ้น พันโท ลอร์ด นิเนียน คริชตัน-สจ๊วร์ต ได้นำทรัพย์สินของตัวเองเป็นประกันกับธนาคารให้กับสโมสร เมื่อสนามก่อสร้างเสร็จสโมสรจึงได้ตั้งชื่อสนามเพื่อเป็นเกียรติและเป็นที่ระลึกถึงการช่วยเหลือในครั้งนี้ของเขาว่า นิเนียน พาร์ก และสโมสรได้ใช้สนามแห่งนี้เป็นสนามเหย้าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1910 (ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง พันโท ลอร์ด นิเนียน คริชตัน-สจ๊วร์ต ได้ถูกพลซุ่มยิงของจักรวรรดิเยอรมันลอบยิงที่ศีรษะจนเสียชีวิตในยุทธการลูส์ ที่ฝรั่งเศส ทางสโมสรจึงได้สร้างอนุสาวรีย์ของเขาไว้ที่หน้าสนาม)

หลังจากย้ายมาใช้สนามนิเนียน พาร์ก สโมสรได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมในดิวิชัน 2 ของเซาเทิร์น ฟุตบอลลีก[8]และแต่งตั้งผู้จัดการทีมอย่างเป็นทางการคนแรกคือ​ เดวี แม็คดูกอลล์​ ซึ่งเป็นผู้เล่นชาวสกอตแลนด์​ ของสโมสร​ โดยสโมสรมอบหมายให้เป็นผู้เล่น-ผู้จัดการทีม​[9]และจบฤดูกาลด้วยอันดับ​ 4​ ต่อมาสโมสรตัดสินใจเปลี่ยนผู้จัดการทีมโดยแต่งตั้งเฟรเดริก​ สจ๊วต​ ซึ่งเคยคุมทีมสต๊อกพอร์ต​ เคาน์ตี​เข้ามาทำหน้าที่แทนเดวี แม็คดูกอลล์​ โดยเฟรเดริก​ สจ๊วต​ เข้ามายกระดับสโมสรให้มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น​ เช่น​ มีการเซ็นสัญญากับผู้เล่นที่เคยเล่นในระดับฟุตบอลลีกหลายรายเข้ามาร่วมทีม​ และสามารถสร้างผลงานคว้าแชมป์​ เวลส์คัพ ได้เป็นครั้งแรก​ในฤดูกาล​ 1911–12​ ก่อนที่จะคว้าแชมป์เซาเทิร์นฟุตบอลลีก​ ดิวิชัน​ 2​ ได้ในฤดูกาล 1912–13 ทำให้ได้เลื่อนขึ้นไปแข่งในเซาเทิร์นฟุตบอลลีก​ ดิวิชัน​ 1 และจบฤดูกาลใน 4 อันดับแรกของลีก 2 ฤดูกาลติดต่อกัน ก่อนที่การแข่งขันฟุตบอลลีกต่างๆจะหยุดลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ระหว่างปี ค.ศ.1915–19 [6][10]

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่​ 1​ สนามนิเนียน​ พาร์ก ถูกใช้เป็นลานฝึกทหาร​และผู้เล่นของสโมสรถูกเรียกไปเป็นทหารและต้องสู้รบในสงครามหลายราย เช่น​ เฟรด​ คีเนอร์​ ผู้เล่นตำแหน่งกองหลังของทีม ที่ถูกเรียกไปประจำการและต้องสู้รบกับฝ่ายจักรวรรดิเยอรมัน​ในยุทธการที่แม่น้ำซอม[11]ซึ่งจัดว่าเป็นสมรภูมิรบที่นองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์​ ที่มีทหารเสียชีวิตกว่า​ 1​ ล้านนาย​ โดยเฟรด​ คีเนอร์​ ได้รับบาดเจ็บหนักแต่ก็รอดชีวิตมาได้​ นอกจากนี้จอห์น​ สตีเฟนสัน​ ผู้รักษาประตูตัวสำรอง​[12]และ​ ทอม​ วิตตส์ ผู้เล่นดาวรุ่งของทีม​ ก็ถูกเรียกไปเป็นทหารด้วยเช่นกัน​ โดยทอม​ วิตตส์ เป็นผู้เล่นของสโมสรที่เสียชีวิตจากพิษบาดแผลที่ได้รับจากรบที่ลิมง-ฟงแต็น​ จังหวัดนอร์ ประเทศฝรั่งเศส[13]

หลังสงครามโลกครั้งที่​ 1​ จบลง​ ฟุตบอลในประเทศอังกฤษกลับมาแข่งขันต่อหลังจากหยุดแข่งไปนานถึง​ 4​ ฤดูกาล​ โดยคาร์ดิฟฟ์​ ซิตี กลับมาลงแข่งขันในฤดูกาล​ 1919–20 ในเซาเทิร์นฟุตบอลลีก​ ดิวิชัน​ 1​ และจบฤดูกาลด้วยอันดับ 4

ค.ศ.1920-1945

ในปี ค.ศ.1920 อิงกลิชฟุตบอลลีก ได้ขยายโครงสร้างลีกอาชีพ​ โดยให้เพิ่ม​ดิวิชัน​ 3​ ​จากเดิมที่มีเพียง​ 2​ ดิวิชัน​ โดยคัดเลือกจากสโมสรที่แข่งขันในเซาเทิร์นฟุตบอลลีก​ และคาร์ดิฟฟ์​ ซิตี ที่ในขณะนั้นอยู่ในระดับสูงสุดของเซาเทิร์นฟุตบอลลีกได้สมัครขอเข้าร่วมอิงกลิชฟุตบอลลีก​ และได้รับการโหวตจากสโมสรสมาชิกให้เข้าสู่ดิวิชัน​ 2

วันที่​ 28​ สิงหาคม​ ค.ศ.​ 1920​ คาร์ดิฟฟ์​ ซิตี ได้ลงแข่งขันในฟุตบอลลีกเป็นนัดแรก​ ​โดยเล่นเป็นทีมเยือนพบกับสโมสรฟุตบอลสต๊อกพอร์ต​ เคาน์ตี​ ที่สนามเอดเจลี​ พาร์ก และเป็นฝ่ายบุกมาชนะ​ 5–2[14]

ใกล้เคียง

สโมสรฟุตบอลทอตนัมฮอตสเปอร์ สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลเรอัลมาดริด สโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ซิตี สโมสรฟุตบอลเชลซี สโมสรฟุตบอลอาร์เซนอล สโมสรฟุตบอลไบเอิร์นมิวนิก สโมสรฟุตบอลนิวคาสเซิลยูไนเต็ด สโมสรฟุตบอลบาร์เซโลนา สโมสรฟุตบอลลิเวอร์พูล

แหล่งที่มา

WikiPedia: สโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ซิตี http://www.bobbankhero.com http://www.answers-to-questions.info/England-Footb... http://fchd.info/CARDIFFC.HTM http://www.fchd.info/CARDIFFC.HTM http://www.dailynews.co.th/Content/sports/205985/%... http://www.cardiffcityfc.co.uk http://www.cardiffcityfc.co.uk/news/article/1899-1... http://www.walesonline.co.uk/sport/football/footba... http://www.gtj.org.uk/en/item10/32142 https://www.bbc.com/news/uk-wales-45666078%E2%80%8...