ประวัติ ของ หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล

การจัดตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลครั้งแรก

หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 โดยดำริของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร) อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผู้เสนอโครงการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในระดับตำบลต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม และมหาเถรสมาคมได้มีมติเห็นชอบ โดยได้มีการตราระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2518 ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ให้พระสงฆ์เป็นผู้นำในการเผยแพร่พระพุทธศาสนา โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อช่วยประชาชนให้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ตามสมควรในด้านต่าง ๆ ตามกรอบการดำเนินงานที่กำหนดไว้ 8 ด้าน คือ

  1. ศีลธรรมและวัฒนธรรม
  2. สุขภาพอนามัย
  3. สัมมาชีพ
  4. สันติสุข
  5. ศึกษาสงเคราะห์
  6. สาธารณสงเคราะห์
  7. กตัญญูกตเวทิตาธรรม
  8. สามัคคีธรรม

ปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 มหาเถรสมาคมได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแก้ไขระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2518 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและสภาพการณ์ในปัจจุบัน[2] ทำให้ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 มหาเถรสมาคมจึงได้มีคำสั่งให้ยกเลิกระเบียบมหาเถรสมาคมว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2518 และประกาศใช้ระเบียบมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล พ.ศ. 2546 ในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2546 สาระสำคัญคือให้มีการดำเนินงานหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลในรูปแบบคณะกรรมการจากทั้งพระสงฆ์ ผู้นำชุมชน และประชาชน และให้เจ้าคณะผู้ปกครองคณะสงฆ์ทุกระดับชั้น ดำเนินการตามระเบียบที่กำหนดไว้ เพื่อก่อตั้งหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลให้ครบทุกเขตปกครองคณะสงฆ์ระดับตำบล ให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2549 [3] ทำให้ในปัจจุบัน หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล จึงมีจำนวนกว่า 5,922 หน่วย กระจายอยู่ในเกือบทุกตำบลในประเทศไทย

ใกล้เคียง

หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยปฏิบัติการพิเศษ หน่วยรบพิเศษ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หน่วยผจญคนไฟลุก หน่วยยามชายแดน หน่วยยามฝั่ง หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย