หน่วยของไทยในประวัติศาสตร์และวรรณคดี ของ หน่วยไทย

หน่วยของไทยมีปรากฏทั้งในประวัติศาสตร์และวรรณคดีดังนี้

พระราชพิธีสิบสองเดือน

พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[3] มีข้อความต่อไปนี้อยู่ “เสาโคมชัยใช้ไม้ยาว 11 วา” (พระราชพิธีจองเปรียง) “เกยสูง 4 ศอก ไม้ยาว 4 ศอก” (พิธีกะติเกยา) “ศิวลึงค์ตั้งอยู่บนฐานที่เรียกว่าโยนิ สูงตั้งแต่ 5 นิ้ว 6 นิ้ว ขึ้นไปจน 2 ศอก เศษ 2 ศอก” (พิธีศิวาราตรี) “ใช้ผ้าลายหกคืบผืน 1 ห้าคืบผืน 1 สี่คืบผืน 1” (พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล) จะเห็นว่า หน่วยในหน่วยของไทยมี วา ศอก นิ้ว คืบ

หนังสือ มังรายศาสตร์

แปลโดย ดร.ประเสริฐ ณ นคร [4] มีข้อความเช่น “คนจะหลีกช้าง หลีกให้ไกล 30 วา 20 วา ผิช้างดุ ให้หลีกให้ไกล 110 วา 50 วา ผิหลีกม้าให้ไกล 1 วา 2 วา ผิงัวควายดุให้หลีกให้ไกล 3 วา 4 วา 5 วา 6 วา” มีหน่วยวัดเป็น วา

โคลงโลกนิติ

มีหน่วยวัดหลายที่ เช่น “ช้างสารหกศอกไซร้ เสียงา” “ขุนเขาสูงร้อยโยชน์ คณนา” “ภุมราอยู่ไกลสถาน นับโยชน์ ก็ดี” เป็นต้น มีหน่วย ศอก โยชน์ [5]

พจนานุกรมศัพท์วรรณคดีไทยสมัยสุโขทัย ไตรภูมิกถา

มีหน่วยวัดเช่น “ต้นกัลปพฤกษ์นั้นโดยสูงได้ 10 วา 2 ศอก โดยกว้างได้ 10 วา” “ชั้นฟ้าอันชื่อว่าดุสิดานั้นขึ้นไปเบื้องบนได้ 2,688,000,000 วา ผิแลจะคลนาด้วยโยชน์ได้ 336,000 โยชน์ จนถึงชั้นฟ้าอันชื่อว่านิมมานรดีนั้น” มีหน่วย วา ศอก โยชน์[6]

พงศาวดารโยนก

มีข้อความ “สร้างพระมหาสถูป ณ เมืองเชียงแสน ซึ่งเรียกว่าวัดต้นแก้ว ก่อฐานพระเจดีย์กว้าง 15 วา สูง 1 เส้น 5 วา” “พระยาเมงรายได้ฟังคำอธิบายของสมเด็จพระร่วงเจ้าดังนั้น จึงตรัสว่า ข้าแต่สหายเจ้าทั้งสอง ผิดังนั้นเราจะตั้งล่วงแป (ด้านยาว) 1000 วา ล่วงขื่อ (ด้านสกัด) 400 วา เถิด” เป็นต้น มีหน่วย วา เส้น[7]

ดังนั้นตามที่ทราบกัน หน่วยวัดของไทยที่ใช้กันมาแต่เดิมมี ศอก วา คืบ นิ้ว โยชน์ เส้น ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยเหล่านี้ก็คือ 12 นิ้วเป็น 1 คืบ, 2 คืบเป็น 1 ศอก, 4 ศอกเป็น 1 วา, 20 วาเป็น 1 เส้น, และ 400 เส้นเป็น 1 โยชน์