ลักษณะและที่อยู่อาศัย ของ หมีขาว

หมีขาว ถือได้ว่าเป็นสัตว์กินเนื้อบนพื้นดินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 รองจากหมีกริซลี (U. arctos horribilis) (บางข้อมูลจัดให้เป็นที่ 1) ที่พบในทวีปอเมริกาเหนือ ตัวผู้เต็มวัยอาจสูงได้ถึง 3 เมตร น้ำหนักตัวอาจมากได้ถึง 350–680 กิโลกรัม (770–1,500 ปอนด์) อายุขัยโดยเฉลี่ย 30 ปี[2] หมีขาวมีรูปร่างที่แตกต่างจากหมีชนิดอื่น ๆ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ มีส่วนคอที่ยาวกว่า ขณะที่ใบหูก็มีขนาดเล็ก อุ้งเท้ามีขนาดใหญ่ และที่เป็นจุดเด่นเห็นได้ชัด คือ สีขนที่เป็นสีขาวครีมอมเหลืองอ่อน ๆ อันเป็นที่มาของชื่อเรียก เนื่องจากผลของเกลือในน้ำทะเล ซึ่งขนสีครีมนี้ทำให้พรางตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยหิมะและน้ำแข็งได้เป็นอย่างดี

หมีขาวกระจายพันธุ์อยู่เฉพาะซีกโลกทางเหนือ บริเวณขั้วโลกเหนือหรืออาร์กติกเท่านั้น จัดได้ว่าเป็นสัตว์กินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในซีกโลกนี้ อุ้งเท้าของหมีขาวมีขนรองช่วยให้ไม่ลื่นไถลไปกับความลื่นของพื้นน้ำแข็ง หมีขาวถือเป็นสัตว์ที่เดินทางไกลมาก โดยบางครั้งอาจจะใช้วิธีการนั่งบนแผ่นหรือก้อนน้ำแข็งลอยตามน้ำไป หรือไม่ก็ว่ายน้ำหรือดำน้ำไป ซึ่งหมีขาวจัดเป็นหมีที่ว่ายน้ำและดำน้ำเก่งมาก โดยใช้ขาหน้าพุ้ย หรือบางครั้งก็ใช้ทั้ง 4 ขา เคยมีผู้พบหมีขาวว่ายอยู่ในทะเลที่ห่างจากชายฝั่งไกลถึง 200 ไมล์

หมีขาว เป็นหมีที่ถือได้ว่ากินอาหารมากกว่าหมีชนิดอื่น ๆ ซึ่งอาหารของหมีขาวมีมากมาย เช่น แมวน้ำ หรือ วอลรัส ด้วยการย่องเข้าไปเงียบ ๆ หรือหลบซ่อนตัวตามก้อนหินหรือก้อนน้ำแข็ง นอกจากนี้แล้วบางครั้งยังอาจจับนกทะเล ทั้งไข่และลูกนก บางครั้งก็จับปลากิน หรืออาจจะกินซากของวาฬที่ตายเกยตื้น หรือแม้แต่ซากหมีขาวด้วยกันหรือลูกหมีที่ตายได้ด้วย[3] หมีขาวมีประสาทสัมผัสการรับรู้กลิ่นที่ดีมาก โดยสามารถได้กลิ่นลูกแมวน้ำที่ซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นน้ำแข็งได้ไกลถึง 2 กิโลเมตร [4]

แหล่งที่มา

WikiPedia: หมีขาว http://www.nunavut.ca/en/map?zoom=0&lat=69.59292&l... http://channel.nationalgeographic.com/die-trying/v... http://tv.ohozaa.com/hourly-rerun/tpbs/2014-12-13/... http://www.mnh.si.edu/mna/image_info.cfm?species_i... http://www.usgs.gov/newsroom/special/polar_bears/ http://pbsg.npolar.no/en/meetings/press-releases/1... http://web.archive.org/web/20080409082137/http://p... http://www.arkive.org/species/GES/mammals/Ursus_ma... http://www.biodiversitylibrary.org/name/Ursus_mari... http://www.nwf.org/polarbear