ประวัติ ของ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล_นวรัตน

หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน เป็นโอรสของหม่อมเจ้าธำรงวรวัฒน์ นวรัตน กับหม่อมสุดใจ นวรัตน์ ณ อยุธยา และเป็นพระนัดดาในพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสถิตย์ธำรงสวัสดิ์ กับหม่อมนุ่ม นวรัตน ณ อยุธยา (สกุลเดิม อภัยกุล) ได้รับการอบรมแบบทหารภายใต้พระบารมีของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ภายหลังจบโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ได้ย้ายไปเป็นนักบินขับไล่ประจำการ ณ สนามบินโคกกระเทียม เมื่ออายุ 25 ปี ขณะดำรงยศนายเรืออากาศโท ต้องออกจากราชการด้วยกรณีศาลพิเศษ พ.ศ. 2476 พิพากษาให้จำคุก 9 ปี ในคดีกบฏบวรเดช

ในระหว่างต้องโทษได้เริ่มศึกษาการเมืองโดยการอ่านตำราจากต่างประเทศของผู้ร่วมชะตากรรมในเรือนจำกลางบางขวาง และเขียนหนังสือขึ้น เริ่มเขียนตำราด้วยลายมือลงในสมุด ลักลอบเวียนกันอ่านในหมู่นักโทษการเมืองในชื่อวารสาร “น้ำเงินแท้” และเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบ้าง ก่อนที่นักโทษด้วยกันจะขอร้องให้เลิกเพราะกลัวถูกจับได้และจะถูกเพิ่มโทษ แต่ก็ยังคงเขียนต่อไปจนถืงกับส่งบทความออกมาลงหนังสือพิมพ์ภายนอก หลังถูกจองจำอยู่ 5 จึงปีได้รับพระราชทานอภัยโทษ

เมื่อเป็นพ้นโทษแล้วได้เขียนเป็นหนังสือเล่มแรกชื่อ “พรรคการเมืองสยามและต่างประเทศ” แต่ถูกสันติบาลยึดไปจากโรงพิมพ์ทั้งหมดก่อนวางตลาด เพราะการมีพรรคการเมืองในสมัยนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ทำให้เป็นอิสระอยู่ได้ไม่นานก็ถูกสันติบาลจับกุมตัวในข้อหาพยายามล้มล้างรัฐบาล จากสาเหตุที่สันติบาลไปค้นวังพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาองค์ใหญ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต แล้วเจอหนังสือกราบทูลของ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล ด้วยสำนึกในพระกรุณาของทูลกระหม่อมพระบิดาของพระองค์หญิง ที่ได้ชุบเลี้ยงตนมาว่า เมื่อออกจากที่คุมขังมาเป็นอิสระ โอกาสที่จะเอาตัวออกรองฉลองพระบาทคงมีบ้าง ซึ่งสันติบาลตีความว่า โอกาสดังกล่าวคือ โอกาสที่จะคิดแก้แค้นรัฐบาล ในที่สุดศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 ได้ตัดสินโทษ หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล ว่าเป็นกบฏและให้จำคุกตลอดชีวิต ขณะถูกจองจำอยู่นั้น ได้ลอบแต่งหนังสือ "เมืองนิมิตร" ขึ้น โดยให้ชื่อในขณะนั้นว่า “ความฝันของนักอุดมคติ” ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ และตกถึงมือสันติบาลอีก ซึ่งมีผลทำให้ถึงกับต้องโทษเนรเทศไปอยู่เกาะเต่าถึง 3 ปี รัฐบาลใหม่ของควง อภัยวงศ์ จึงได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาในปี พ.ศ. 2488 พระราชทานนิรโทษกรรมให้กลับเข้าในราชการรับบำเหน็จบำนาญสังกัดบัญชาการกองทัพไทย ตามเดิม

ในปี พ.ศ. 2490 ได้ทำการสมรสกับ คุณหญิงบรรจบพันธุ์ นวรัตน ณ อยุธยา (สกุลเดิม สังขดุลย์; น้องสาวของพลเรือเอกจิตต์ สังขดุลย์ อดีตทหารผ่านศึกยุทธนาวีเกาะช้าง) แต่เนื่องจากสังขารที่กรอบเกรียมจากวัณโรคและมาลาเรียครั้งทนทุกข์ทรมานอยู่ ณ เกาะเต่า หม่อมราชวงศ์นิมิตรมงคล นวรัตน ได้ถึงแก่อนิจกรรมลงต่อหน้ามารดาและภรรยา เมื่อวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2491 ก่อนที่ หม่อมหลวงชัยนิมิตร นวรัตน บุตรชายคนเดียวจะเกิดเพียง 45 วัน เท่านั้น สิริรวมอายุได้ 39 ปี 11 เดือน 20 วัน

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์