งานการเมือง ของ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์_บริพัตร

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ร่วมกับอำนวย วีรวรรณ เมื่อ พ.ศ. 2537 และเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคนำไทย จนต่อมา เขาเข้าเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากกรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 6 (บางรัก สาทร ปทุมวัน) เมื่อปี พ.ศ. 2539 และ 2544

ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2540[2] ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2543 เนื่องจากการยุบสภา[3] และปฏิบัติหน้าที่รักษาการไปจนกระทั่งได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544[4]

หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 ของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค และดูแลงานทางด้านต่างประเทศและความมั่นคง ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนโซน 6 กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ลำดับที่ 3 และชนะการเลือกตั้ง

ภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 และมีการจัดตั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศตั้งคณะรัฐมนตรีเงาขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 และหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเงา

การตกลงเป็นตัวประกันในเหตุการณ์ยึดสถานทูตพม่า พ.ศ. 2542

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ในรัฐบาลชวน หลีกภัย เกิดเหตุการณ์ก๊อด อาร์มี่ กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่า บุกเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทรเหนือ และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน

หลังการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ก่อการร้ายยินยอมปล่อยตัวประกัน แลกกับให้ทางการไทยจัดเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า โดย หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงได้โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต[ต้องการอ้างอิง]

การลงนามในบันทึกข้อตกลงปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543

ในปี พ.ศ. 2543 หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน พ.ศ. 2543

บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือ การสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยและกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ. 1907 กับพิธีสารแนบท้าย และ แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของ คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 หลังเกิดกรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งอาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศไทยโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เกิดการโจมตีหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์และพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 ที่ระบุให้การจัดทำหลักเขตแดนยึดตามแผนที่ฝรั่งเศส-สยาม (ค.ศ. 1904) เป็นแนวทาง โดยไม่ระบุแผนที่แอล 7017 ของสหรัฐอเมริกาที่ไทยใช้อ้างอิง ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 ก่อนการลงนามของนายนพดล ปัทมะ เรื่องดังกล่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ชี้แจงว่าการระบุถึงแผนที่ ค.ศ. 1904 เป็นการระบุประกอบเอกสารหลักคือ อนุสัญญา ค.ศ. 1904 และ สนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ซึ่งแผนที่จะขัดหรือแย้งไม่ได้ การลงนามในปี พ.ศ. 2543 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศแต่อย่างใด [5]

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยแรก

ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีชี้มูลความผิด นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,800 ล้านบาท และนายอภิรักษ์ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีมติเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ส่งชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โดยหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตรได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การบริหารงานของสุขุมพันธ์ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบของชาวกรุงเทพมากนัก และมักจะได้รับเสียงก่นด่าอยู่เสมอจากการบริการงานที่ล่าช้าและไม่โปร่งใส อาทิ การสร้างสนามบางกอกอารีนาไม่ทันการแข่งขันฟุตซอลโลก, กล้องซีซีทีวีปลอม, การต่อสัญญาสัมปทานบีทีเอส 30 ปี, ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก[6] ซึ่งหลายครั้งที่เขาตกเป็นประเด็นก็จะเก็บตัวเงียบไม่พบสื่อ จนถูกตั้งฉายาว่า "หม่อมเอ๋อ"

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยสอง

แม้ว่าจะไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนมากนัก แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็ตัดสินใจส่งสุขุมพันธ์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครสมัยที่สอง[7] ในการเลือกตั้งเมื่อ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งสุขุมพันธ์ต้องแข่งขันกับ พลตำรวจเอก พงศพัศ พงษ์เจริญ คู่แข่งจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล การสำรวจโดยสำนักโพลต่าง ๆ ก่อนการเลือกตั้ง พบว่าพงศพัศ มีคะแนนนำสุขุมพันธ์ในการสำรวจทุกครั้ง[8] และมวลชนที่เคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ก็หันไปสนับสนุนผู้สมัครคนอื่น ๆ จนพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งดิ้นรนที่จะรักษาฐานอำนาจทางการเมืองจำเป็นต้องหาเสียงโดยใช้วาทกรรม "ไม่เลือกเรา เขามาแน่" และกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นพวก "เผาบ้านเผาเมือง"[9] เพื่อจูงใจคนที่ไม่ชอบพรรคเพื่อไทยหันมาเทคะแนนให้พรรคประชาธิปัตย์แทนที่จะไปเลือกผู้สมัครคนอื่นซึ่งจะเป็นคะแนนที่เสียเปล่า การหาเสียงด้วยวาทกรรมนี้ ช่วยให้สุขุมพันธ์พลิกกลับมาชนะการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียง 1,256,349 เสียง ซึ่งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร [10]

ความล้มเหลวด้านบริหาร

ในช่วงของวาระที่สอง สุขุมพันธ์ได้ให้ความช่วยเหลือในการชุมนุมของกปปส.ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพรรคเพื่อไทย โดยมีการอำนวยความสะดวกทั้งในเรื่องของระบบไฟฟ้าและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แม้ว่าเขาจะออกมาแก้ต่างว่าเป็นหน้าที่ของกทม.ที่ควรจะทำโดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย[11] สุขุมพันธ์ใช้งบประมาณไปอย่างสิ้นเปลืองในโครงการต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร มีการใช้งบกว่า 1.28 พันล้านบาท จัดซื้อเครื่องดนตรีให้แก่โรงเรียนในสังกัดทั้ง ๆ ที่ไม่มีบุคลากรครูผู้สอน[12] และยังมีการใช้งบ 39 ล้านบาทในการประดับตกแต่งไฟบริเวณลานคนเมืองและขั้นตอนไม่โปร่งใส[13] การบริหารงานของสุขุมพันธ์นั้นดื้อดึงและย่ำแย่ถึงขนาดที่พรรคประชาธิปัตย์พยายามพูดคุยกับสุขุมพันธ์แต่ก็ถูกเพิกเฉย จนพรรคต้องออกมาประกาศตัดสัมพันธ์กับสุขุมพันธ์ในวันที่ 21 มกราคม 2559 [14]

ทั้งที่สุขุมพันธ์ผู้ว่ามาหลายปีและไปดูงานการจัดการน้ำในยุโรปหลายครั้ง แต่สุขุมพันธ์ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในกรุงเทพมหานครได้ จนประชาชนต้องออกมาโจมตีเขา เขาได้ออกมากล่าวว่า "...ถ้าไม่อยากมีจุดเสี่ยงเรื่องน้ำท่วม ต้องไปอยู่บนดอยครับ"[15] ซึ่งทวีความไม่พอใจในหมู่ประชาชน และกรณีอื่น ๆ อาทิ การปฏิเสธโครงการความช่วยเหลือแบบให้เปล่าด้านโรงไฟฟ้าขยะจากรัฐบาลญี่ปุ่น เนื่องจากมีโครงการอยู่กับบริษัทจากจีน[16] นอกจากนี้ยังมีการใช้งบประมาณกว่า 16.5 ล้านบาทในการตกแต่งห้องทำงานส่วนตัว[17] และยังมีการจัดซื้อรถดับเพลิงขนาดเล็กพวงมาลัยซ้ายสมรรถนะต่ำในราคาคันละ 8 ล้าน และเรือดับเพลิงขนาดเล็กคันละ 10 ล้าน แม้จะถูกสตง.ท้วงติงในโครงการต่าง ๆ ว่าไม่ควรตรวจรับ แต่กทม.ภายใต้การบริหารของสุขุมพันธ์ก็ดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จ[18]

แม้ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย จะออกมาเรียกร้องให้สุขุมพันธ์แสดงความรับผิดชอบต่อข้อครหาต่าง ๆ โดยการลาออกจากตำแหน่ง แต่หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธ์ก็ยืนยันที่จะไม่ลาออก [19] ในขณะที่มีกระแสบางส่วน ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดสุขุมพันธ์ออกจากตำแหน่งผู้ว่า[20]จนในที่สุดในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559 การเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของเขาก็จบลงทางพฤตินัย โดยอำนาจตามมาตรา 44

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์

แหล่งที่มา

WikiPedia: หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์_บริพัตร http://www.facebook.com/Sukhumbhand.P/ http://hilight.kapook.com/view/32741 http://travel.kapook.com/view137935.html http://news.mthai.com/hot-news/politics-news/21007... http://news.mthai.com/hot-news/politics-news/49346... http://www.posttoday.com/columnist/suntouch/442879 http://www.ryt9.com/s/iqry/1601707 http://www.shadowdp.com http://www.komchadluek.net/news/politic/150927 http://www.komchadluek.net/news/politic/221069