ประวัติ ของ หม่อมหลวงเนื่อง_นิลรัตน์

หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์ เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2456 ณ วังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพรหมวรานุรักษ์ เดิมชื่อ ทับทิม ภายหลังได้รับการตั้งชื่อใหม่ว่า เนื่อง เป็นบุตรีคนที่ 3 ของหม่อมราชวงศ์อั้น นิลรัตน์ และนางเผือก นิลรัตน์ ณ อยุธยา สืบราชสกุลมาจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น๒ กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา ลงมาทางพระอัยกาหม่อมเจ้าชายชุ่ม นิลรัตน์

หม่อมหลวงเนื่อง มีพี่น้องร่วมมารดาคือ

  • หม่อมหลวงหญิง ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังไม่มีชื่อ
  • หม่อมหลวงหญิง ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังไม่มีชื่อ
  • หม่อมหลวงเนื่อง นิลรัตน์
  • หม่อมหลวงกระแสร์ นิลรัตน์ (ชาย)
  • หม่อมหลวงสมพงษ์ นิลรัตน์ (หญิง)
  • หม่อมหลวงวารินทร์ นิลรัตน์ (ชาย)
  • หม่อมหลวงวารี นิลรัตน์ (หญิง)
  • หม่อมหลวงสมจิตต์ นิลรัตน์(จันทนพิศาล)(หญิง)
  • หม่อมหลวงดำรงค์ นิลรัตน์ (ชาย)

ในวัยเยาว์ บิดาได้นำหม่อมหลวงเนื่องถวายหม่อมเจ้าหญิงสะบาย นิลรัตน์ ซึ่งเป็นท่านย่าและทรงเป็นหัวหน้าห้องเครื่อง (ครัว) ของพระวิมาดาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา ทรงเลี้ยงดูภายในพระราชวังสวนสุนันทา โดยหม่อมเจ้าหญิงสะบาย ทรงมอบภาระการเลี้ยงดูหม่อมหลวงเนื่องต่างพระเนตรแก่หม่อมเจ้าหญิงแย้มเยื้อน สิงหรา ได้รับการเลี้ยงดูพร้อมกับหม่อมราชวงศ์หญิงศรีคำ ทองแถม ธิดาในหม่อมเจ้าคำงอก ทองแถมและหม่อมราชวงศ์หญิงวงศ์สินธุ์ สิงหรา ในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ในวังนี้ ได้รับการสอนในวิชาการครัวตลอดจนการฝีมือต่างๆ จนมีอายุพอสมควรแล้ว หม่อมเจ้าหญิงสะบาย จึงนำขึ้นถวายเป็นข้าหลวงในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้านิภานภดล วิมลประภาวดี กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี ได้รับประทานเหรียญทองลงยา อักษรพระนามย่อ “น น” เป็นเกียรติยศ

หม่อมหลวงเนื่อง ศึกษาในขั้นแรกกับหม่อมราชวงศ์หญิงบุญเอื้อ ลดาวัลย์ และหม่อมพยอม ทวีวงศ์ ณ อยุธยา ภายหลังเมื่ออายุได้ 8 ปี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯกรมขุนอู่ทองเขตรขัตติยนารี ทรงสถาปนาโรงเรียนนิภาคารขึ้นเพื่อให้การศึกษาแก่ข้าหลวงในพระราชวังสวนสุนันทา จึงเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนแห่งนี้จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 หม่อมหลวงเนื่องออกจากพระราชวังสวนสุนันทามาอยู่กับบิดามารดาระยะหนึ่ง ต่อมาจึงย้ายไปอาศัยกับหม่อมเจ้าหญิงแย้มเยื้อนที่วังลดาวัลย์ ในระหว่างนี้ได้สมัครเข้าทำงานเป็นครูประชาบาล สอนที่โรงเรียนเทเวศร์ศึกษาเป็นแห่งแรก จากนั้นได้ประกอบอาชีพครูโดยตลอดและสอนที่โรงเรียนวัดสมณานัมบริหาร (วัดญวน สะพานขาว) เป็นแห่งสุดท้าย รวมเป็นระยะเวลา 22 ปี

ผลงาน

หม่อมหลวงเนื่อง เริ่มเขียนผลงานชิ้นแรก เมื่อปี พ.ศ. 2528 ครั้งที่หม่อมราชวงศ์หญิงศรีคำ ทองแถม ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทตั้งแต่เมื่ออาศัยอยู่ในวังถึงแก่กรรมลง หม่อมหลวงเนื่องจึงเขียนคำไว้อาลัยกล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตเมื่อเยาว์วัยในพระราชวังสวนสุนันทา สำหรับลงพิมพ์ในหนังสือแจกเป็นที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพครั้งนั้น ภายหลังจึงเขียนเรื่องลงในนิตยสารมาโดยตลอด เริ่มต้นที่นิตยสาร อาหาร-โรงแรม-ท่องเที่ยว, ลดา และ พลอยแกมเพชร ใช้ชื่อคอลัมน์ ชีวิตในวัง และ ชีวิตนอกวัง ซึ่งต่อมา สำนักพิมพ์ศรีสารา จัดพิมพ์ขึ้นเป็นฉบับรวมเล่มในรูปหนังสือพกพา แบ่งเป็น ชีวิตในวัง 2 เล่ม กับชีวิตนอกวัง 17 เล่ม ทั้งนี้หม่อมหลวงเนื่อง ได้ยุติการเขียนคอลัมน์ดังกล่าว เมื่ออายุ 95 ปีเนื่องจากความชรา รวมระยะเวลาในการเป็นนักเขียน 21 ปี

นอกจากงานเขียน หม่อมหลวงเนื่อง ยังมีความสามารถในการปรุงอาหารไทยชาววังประเภทต่างๆ ซึ่งได้รับการอบรมมาแต่ครั้งอาศัยอยู่ในวัง เช่น ทอดมันสิงคโปร์, สะเต๊ะลือ, เมี่ยงลาว, แกงรัญจวน, ยำทวาย ฯลฯ โดยหม่อมหลวงเนื่อง และนางสาวนิจ เหลี่ยมอุไร บุตรสาว ร่วมกันเผยแพร่วิธีการปรุงอาหารเหล่านี้ เป็นประโยชน์แก่บุคคลที่สนใจจำนวนมาก

เกียรติยศ

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเป็ดสวรรค์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล