ประวัติ ของ หม่อมเจ้าพร้อม_ลดาวัลย์

ปฐมวัย

หม่อมเจ้าพร้อม ลดาวัลย์ เป็นพระโอรสลำดับที่ 38 ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ประสูติแต่หม่อมมาลัย[1] เมื่อวันเสาร์ แรม 6 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2412 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2413)

ผนวช

หลังจากเกศากันต์ในปีมะเมีย พ.ศ. 2425 หม่อมเจ้าพร้อมได้ผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยสมเด็จพระวันรัตน์ (ทับ พุทฺธสิริ) วัดโสมนัสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ หม่อมเจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เป็นผู้ประทานศีล[1] ผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

ถึงปีฉลู พ.ศ. 2432 ได้ผนวชเป็นภิกษุ ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพรหมมุนี (เหมือน สุมิตฺโต) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับพระนามฉายาว่า "ธมฺมรโต" ผนวชแล้วประทับ ณ วัดราชบพิธฯ ตามเดิม[2]

การศึกษา

หลังจากผนวชเป็นสามเณร ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมในหลายสำนัก ได้แก่ สำนักพระครูศีลสังวรและนายรอด ที่วัดราชบพิธ สำนักพระยาธรรมปรีชา (บุญ) ที่พระพุทธปรางค์ปราสาท สำนักสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) ที่วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร ก่อนเข้าสอบได้เสด็จไปฝึกซ้อมแปลกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส[3]

ขณะยังเป็นสามเณร ทรงเข้าสอบในปีระกา พ.ศ. 2428 ได้เปรียญธรรม 5 ประโยค พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานวัตถุจตุปัจจัยมูลค่า 2 ชั่งเป็นรางวัล[4] หลังจากผนวชเป็นพระภิกษุ ทรงเข้าสอบอีกในปี พ.ศ. 2434 ได้เพิ่มอีก 2 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[5]

เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทร์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะให้วัดเทพศิรินทราวาสมีโรงเรียนภาษาบาลี ทรงเห็นว่าหม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตร (หม่อมเจ้าพร้อม ธมฺมรโต) มีความรู้ภาษาบาลีเป็นอย่างดี สามารถจัดการศึกษาในวัดให้รุ่งเรืองได้ โปรดให้อาราธนาพระองค์ท่านไปเป็นอยู่วัดเทพศิรินทราวาสในปี พ.ศ. 2437 เมื่อพระวินัยรักขิต (นาม กาฬนาโม) อาพาธด้วยอหิวาตกโรค จนมรณภาพลงเมื่อวันอังคารที่ 30 เมษายน ปีนั้น[6] หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตรจึงขึ้นดำรงเจ้าอาวาสแทนสืบมา จนกระทั่งลาสิกขาบท รวมระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งทั้งสิ้น 4 ปี

ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส หม่อมเจ้าพระศรีสุคตคัตยานุวัตรได้พัฒนาวัดหลายประการ เช่น ปรับปรุงทัศนียภาพในวัด สร้างและซ่อมเสนาสนะ สร้างพระประธาน นำพระราชทรัพย์ที่ได้รับพระราชทานมาบำรุงการจัดการศึกษา เป็นต้น[7]

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเป็ดสวรรค์ หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล

แหล่งที่มา

WikiPedia: หม่อมเจ้าพร้อม_ลดาวัลย์ http://www.debsirinalumni.org/history.php?id_his=1... http://www.debsirinalumni.org/history.php?id_his=1... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2434/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/05... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2441/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2449/02... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2453/D/...