พระประวัติ ของ หม่อมเจ้ายาใจ_จิตรพงศ์

หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ เป็นพระโอรสใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ เมื่อแรกประสูติ พระบิดาประทานพระนามลำลองว่า 'ไส' ด้วยเป็นพระโอรสองค์ที่ 4 จึงประทานพระนามตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์พระธรรมศาสตร์ ต่อมาจึงประทานพระนามอย่างทางการว่า "ยาใจ" มีโสทรภคินีและโสทรภราดา 5 องค์ ได้แก่[1]

ปฐมวัย

หม่อมเจ้ายาใจโปรดการวาดภาพมาแต่ทรงพระเยาว์ ทรงเคยนำกำหนดการทำขวัญเดือนหม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ โสทรขนิษฐา ซึ่งพระยาโหราธิบดีได้คำนวณหาฤกษ์ไว้นั้นไปเขียนภาพครุฑตามแบบตราที่ปรากฏอยู่บนซองจดหมายราชการ เมื่อทรงพระเยาว์นั้น หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ให้ลูก ๆ เล่นกันที่เฉลียงบนตำหนัก ไม่ให้ไปไกลตา แต่อนุญาตให้ไปดูช้างที่ยืนโรงอยู่ในพระบรมมหาราชวังได้ บางคราวก็เลยไปดูจิตรกรรมเรื่องรามเกียรติ์ที่พระระเบียง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นสิ่งที่หม่อมเจ้ายาใจโปรดมาก พอกลับมาก็ทรงนำชอล์กเขียนภาพยักษ์ไว้ที่บานประตูห้องบ้าง เวลาบรรทมเล่นก็เขียนภาพที่ฝาห้องจนเต็มผนัง

หม่อมเจ้ายาใจประชวรบ่อยเมื่อทรงพระเยาว์ หม่อมราชวงศ์โตผู้เป็นพระมารดาประคับประคองมาก รวมไปถึงหม่อมเจ้าแดง งอนรถ และหม่อมวัน งอนรถ ณ อยุธยา อัยกาและอัยยิกาฝ่ายพระมารดาด้วย หม่อมวันนั้นถึงกับเดินทางมาจากวังล่างที่ปากคลองตลาด มาช่วยเลี้ยงหลานชายคนโต หม่อมเจ้าแดงก็พลอยดีทัย เมื่อหลาน ๆ ไปเฝ้าก็ให้ทำร้านสูง ๆ ตั้งอ่างใบโตใส่น้ำต่อท่อเป็นฝักบัวให้หลาน ๆ เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน หม่อมเจ้ายาใจเองทรงซุกซน ทรงเคยแอบนำบุหรี่ไทยที่อัยกาทรงมาสูบจนเมากลิ้งไป ซึ่งยาสูบนี้เอง เป็นภัยต่อท่านจนตลอดชนม์ชีพ

การศึกษา

ทรงเริ่มศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก ต่อมาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมแวร์ซาย ประเทศฝรั่งเศส จนสอบได้ชั้นที่ 2 แล้วจึงกลับเข้ามาศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสอบเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยกรุงปารีส จนได้รับปริญญาด้านออกแบบศิลปอุตสาหกรรม

การทรงงาน

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเห็นว่าเลี้ยงดูประคับประคองมากเกินไป ประจวบกับสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงจัดระเบียบโรงเรียนนายร้อยเสียใหม่ ทรงรับนักเรียนไปฝึกหัดแต่ยังเด็กด้วย จึงทรงพาพระโอรสไปสมัครเป็นนักเรียนนายร้อย เช่นเดียวกับพระอนุวงศ์ที่ทรงพระเยาว์อีกหลายองค์ ในเวลาหยุดเทอม พระบิดาก็ทรงฝากให้ไปประทับกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ที่อำเภอศรีราชา บางคราวก็ขอประทานฝากไปประทับกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ที่หัวหินด้วยหัวหินนั้นมีอากาศดี และเมื่อไปประทับที่หัวหินนั้นทำให้ได้รู้จักผู้มีความสามารถ หม่อมเจ้ายาใจจึงแข็งแรงดีและทรงมีประสบการณ์ดีขึ้นมาก ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนายร้อยหลายปีจนสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงลาออก และเสด็จไปศึกษาต่อยังประเทศฝรั่งเศสโดยมีพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากรเป็นผู้ดูแล ทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมแวไซล์ โรงเรียนเตรียมอุดม (ในกรุงปารีส) และมหาวิทยาลัยกรุงปารีสตามลำดับ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาออกแบบศิลปอุตสาหกรรมจากมหาวิทยาลัยกรุงปารีส เมื่อพ.ศ. 2475 และเสด็จกลับมายังประเทศไทยในอีกสามปีถัดมา หม่อมเจ้ายาใจทรงปฏิบัติหน้าที่พระโอรสองค์ใหญ่เป็นอย่างดี ทรงงานในกรมศิลปากรโดยที่ยังมิได้บรรจุเป็นข้าราชการในปีนั้น ซึ่งพระบิดาประทานพระโอวาทไว้ว่า "เกิดมาเป็นพระราชวงศ์ต้องทำราชการรับใช้พระเจ้าแผ่นดินและชาติบ้านเมือง อันมีบุญคุณแก่พ่อมาก พ่อแก่แล้วทำราชการไม่ไหว ขอให้รับราชการแทนตัวพ่อ ถึงจะยากลำบากก็ขอให้อดทนรับราชการสืบทอดต่อไป ได้เงินเดือนเท่าไรก็ใช้ให้พอ อย่าบ่น อย่าว่า และอย่าลาออก" หม่อมเจ้ายาใจก็ทรงทำตามพระโอวาท รับราชการในกรมศิลปากรจนเกษียณอายุ ทรงดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และทรงดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีอีกตำแหน่งหนึ่ง เมื่อชันษามากขึ้น ก็ยังทรงงานต่าง ๆ จนทรงทำมิได้แล้วจึงงดไว้ เมื่อหม่อมราชวงศ์จักรรถ จิตรพงศ์เข้าไปรับราชการแทนองค์แล้วจึงทรงออกจากราชการ

หม่อมเจ้ายาใจทรงเป็นหนึ่งในผู้มีความรู้ในศิลปะแขนงต่าง ๆ อย่างดียิ่ง ทรงเคยรับหน้าที่ในการบูรณะปราสาทขอมหลายแห่ง เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง รวมทั้งเป็นผู้ดูแลการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีด้วย

ศาสตราจารย์หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ ได้รับการทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

เสกสมรส

หม่อมเจ้ายาใจเสกสมรสกับหม่อมจักลิน ดูบัวส ราวปีพ.ศ. 2475 -2476 ณ ประเทศฝรั่งเศส มีธิดา 2 คน ได้แก่

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์ดวงใจ ชุมพล ท.จ.
  • หม่อมราชวงศ์เอมจิตร จิตรพงศ์ ต.จ.

สิ้นชีพิตักษัย

เมื่อปีพ.ศ. 2539 หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ประชวรด้วยพระโรคปอดอักเสบ และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 สิริชันษา 85 ปี นับป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญที่มีความรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีกองค์หนึ่ง ดังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพว่า "มีเรื่องที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง บางทีข้าพเจ้าก็เผลอคิดไปว่าจะไปทูลถามที่วังคลองเตย แล้วก็นึกออกว่าท่านไม่อยู่แล้ว ก็ยังระลึกถึงท่านอยู่เสมอ"

ใกล้เคียง

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช หม่อมหลวงณัฏฐกรณ์ เทวกุล หม่อมราชวงศ์นริศรา จักรพงษ์ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์