พระทายาท ของ หม่อมเหม็น

หม่อมเหม็นมีพระโอรส พระธิดาทั้งหมด 13 ท่าน ดังรายพระนาม ดังนี้[9]

  1. หม่อมเจ้าชายใหญ่
  2. หม่อมเจ้าหญิงตลับ
  3. หม่อมเจ้าหญิงป้อม
  4. หม่อมเจ้าชายสุวรรณ
  5. หม่อมเจ้าหญิงยี่สุ่น
  6. หม่อมเจ้าชายหนูเผือก
  7. หม่อมเจ้าชายสวัสดิ์
  1. หม่อมเจ้าหญิงสาลี
  2. หม่อมเจ้าหญิงสารภี
  3. หม่อมเจ้าชายเล็ก
  4. หม่อมเจ้าหญิงมุ้ย
  5. หม่อมเจ้าชายแดง
  6. หม่อมเจ้าหญิง (ไม่ทราบพระนาม)

ในจำนวนนี้ทราบแต่เพียงว่าหม่อมเจ้าหญิงสารภี ประสูติแต่หม่อมห้ามชื่อหม่อมคลี่จากสกุลอมาตยกุล ซึ่งพระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) ได้จดบันทึกไว้ว่าเป็นคนในสกุลอมาตยกุล ความว่า "...บุตรหลวงยศคงชื่อสิงเป็นบุตรเขยเจ้าพระยาธรรมา (มั่ง) แล้วได้เป็นหลวงยศแทนบิดาคน๑ น้องหลวงยศคงเป็นหญิงชื่อหม่อมคลี่เป็นห้ามหม่อมเหม็นคน๑ มีบุตรกับหม่อมเหม็นเป็นหญิง ชื่อภีคน๑..."[10] แต่หม่อมห้ามท่านอื่น ๆ นั้นไม่พบว่ามีการบันทึกเกี่ยวกับหม่อมห้ามของหม่อมเหม็นไว้เลย และต้องสืบหากันต่อไป[11]

หลังคดีกบฏเจ้าฟ้าเหม็น เจ้าฟ้าเหม็นถูกถอดพระยศและถูกสำเร็จโทษ ส่วนพระโอรสทั้งหกถูกประหารชีวิตทั้งหมด[12] ขณะที่พระธิดาที่ยังเหลืออยู่ก็ถูกถอดให้มีพระยศเป็น คุณ หรือ หม่อม[13] และยังพบว่าพระธิดาของหม่อมเหม็นสองท่านคือ หม่อมเจ้าตลับ และหม่อมเจ้าหอ ปรากฏตัวเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปกรุงเก่าทางชลมารค ระหว่างนั้นก็มีเรือเก๋งพายเข้ามาเคียงเรือพระที่นั่งอย่างไม่เกรงพระอาญา นำโดยเจ้าจอมมารดาน้อย (ธิดาพระอินทรอภัย) พร้อมด้วยหม่อมเจ้าอีกสองท่านดังกล่าว[14] เรื่องนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาเล่าความแก่เจ้าจอมมารดาพึ่ง ดังปรากฏความว่า "...อยากจะใคร่ให้เอาไปตัดหัวเสียตามสกุลพ่อมัน แซ่นี้มักเป็นเช่นนั้นเหมือนคุณสำลี...ข้าได้ยินว่าคนพวกเจ้าตลับ เจ้าครอกหอ ไปด้วย พวกนั้นเปนพวกใกล้เคียงกับยายป้าน้อยของเต่า เต่าอย่าไปไถ่ถามว่ากล่าวอะไรวุ่นวายน้อยมันจะด่าให้อายเขา..."[15]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้สืบเชื้อสายของหม่อมเหม็นได้รับพระราชทานนามสกุลว่า "อภัยกุล"[13] เป็นนามสุกลพระราชทานลำดับที่ 3941 เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Abhayakul นายพิศาล เป็นบุตรหม่อมหลวงแฉล้ม หม่อมหลวงแฉล้มเป็นบุตรพระยาทิพรัตนอมร เป็นผู้ขอพระราชทาน พระราชทานเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2460