ลักษณะและการกระจายพันธุ์ ของ หอยชักตีน

เป็นหอยฝาเดียวที่จัดอยู่ในวงศ์หอยชักตีน (En:Strombidae) พบแพร่กระจายทั่วไปในทะเลเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไปทางตะวันตกสุดถึงเมลานีเซีย เหนือสุดถึงประเทศญี่ปุ่น และใต้สุดถึงควีนส์แลนด์และนิวแคลิโดเนีย พบอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นทรายปนโคลน และบริเวณหญ้าทะเลและสาหร่าย ตั้งแต่เขตน้ำขึ้น-ลง ไปจนถึงในระดับความลึกถึงประมาณ 55 เมตร มีการเก็บมาใช้บริโภคเป็นอาหารในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งมีการนำเปลือกมาใช้ประโยชน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานหัตถกรรมเครื่องใช้และของประดับตกแต่งต่าง ๆ ขนาดใหญ่สุดมีความยาวเปลือก 10 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปมักพบขนาดประมาณ 6–7 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบหอยชักตีนได้ทั่วไปทั้งในฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน ถือเป็นหอยฝาเดียวชนิดที่พบมาก สามารถพบเปลือกตามชายฝั่งทะเลทั่วไป แต่มีเพียงบางแหล่งที่มีการเก็บหอยชักตีนขึ้นมาใช้ประโยชน์เพื่อการบริโภคอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่นแถบจังหวัดกระบี่ พังงา ภูเก็ต ระยอง ชุมพร เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปการเก็บหอยชักตีนจะใช้วิธีงม หรือเดินเก็บในเวลาน้ำลงในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สามารถพบหอยชักตีนในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของทุกอำเภอ และปัจจุบันยังคงมีอยู่ สังเกตได้จากที่สามารถพบเปลือกหอยใหม่ ๆ ตามชายหาดทั่วไป แต่ไม่มีแหล่งที่ทำการประมงเก็บหอยชักตีนจากธรรมชาติมาบริโภคแพร่หลายเช่นในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน และไม่มีการศึกษาสำรวจอย่างจริงจัง จึงไม่ทราบสภาวะทรัพยากรหอยชักตีนในเขตจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในปัจจุบัน