ประวัติ ของ หัวเหยียน

ในราวพุทธศตวรรษที่ 9 ท่านพุทธภัทรได้แปลอวตังสกสูตรออกสู่พากย์จีน และต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง ท่านศึกษานันทะได้แปลอีกฉบับหนึ่ง ถือกันว่าเป็นฉบับที่สมบูรณ์ ตั้งแต่พระสูตรถูกแปลเป็นพากย์จีน ก็ถูกกับอุปนิสัยของชาวจีนมาก มีผู้ศึกษากันแพร่หลาย[1]

ต่อมาในราวพุทธศตวรรษที่ 10-11 คณาจารย์ตู้ซุ่น (杜順) ได้เขียนนิพนธ์เรื่อง "ธรรมธาตุวิปัสสนา" (華嚴法界觀門) และปัญจศาสน์สมถวิปัสสนา (華嚴五教止觀) ได้สถาปนารากฐานของนิกายหัวเหยียนขึ้น ต่อมามีคณาจารย์ฝ่าจั้ง (法藏) หรือเสียนโส่ว (贤首) ได้เขียนอรรถกถาหลักธรรมในอวตังสกสูตร นิกายหัวเหยียนจึงเจริญรุ่งเรือง บางทีนิกายนี้ก็ชื่อว่า "เสียนโส่ว" ตามนามของคณาจารย์เสียนโส่ว นิกายนี้มีอิทธิพลคู่เคียงกันนิกายเทียนไท้ตลอดมา[1]

ในช่วงปลายราชวงศ์ถัง นิกายหัวเหยียนเริ่มเสื่อมความนิยมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการกวาดล้างพุทธศาสนาครั้งใหญ่ในรัชสมัยพระเจ้าถังอู่จง (หรือ การกวาดล้างพุทธศาสนาเมื่อปีค.ศ. 854) จนกระทั่งสูญหายไปจากแผ่นดินจีนในที่สุด ปัจจุบันคำสอนของนิกายนี้ยังเหลือที่เกาหลียังสืบสานแนวทางปริยัติอยู่บ้าง และที่ญี่ปุ่นยังคงไว้ที่สำนักวัดโทไดจิ เมืองนาระ ซึ่งในญี่ปุ่นเรียกว่านิกายเคะงง ส่วนในเกาหลีเรียกว่านิกายฮวาออม