เหตุการณ์ ของ หิรัญนครเงินยางเชียงลาว

หลังจากการล่มสลายของเวียงโยนกไชยบุรีศรีช้างแส่น ลาวจังราช หรือลาวจง (ซึ่งตามตำนานว่าเกิดโดยโอปปาติกใต้ต้นพุทรา หรือบางตำนานว่าไต่บันไดเงินและทองคำลงมาบริเวณดอยตุง) ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์ เรียกราชวงศ์ใหม่นี้ว่าราชวงศ์ลาว

ลาวจังกราช ครองราชย์ในเมืองหิรัญนครเงินยาง เชื่อว่าอยู่บริเวณเมืองโบราณที่เรียกว่า เวียงพานคำ ในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย สอดคล้องกับที่ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ (ฉบับวัดพระงาม)และตำนานเมืองพะเยา ว่า บริเวณเมืองหิรัญนครเงินยาง อยู่แถวๆแถบแม่น้ำสาย และดอยตุง ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ตำนานพื้นเมืองเชียงแสนเป็นหลักฐานเดียวที่กล่าวว่าหิรัญนครเงินยางอยู่บริเวณเดียวกับเมืองเชียงแสน ซึ่งมีความน่าเชื่อถือน้อย เพราะหลายๆตำนานระบุว่าพญาแสนพูสร้างเมืองเชียงแสนทับเวียงรอย)

หลังจากนั้นในสมัยลาวเคียง พระองค์ได้ทำการปรับปรุงขยายเขตแนวคูเมืองหิรัญนครเงินยางเพื่อให้เป็นเวียงใหม่ใกล้แม่น้ำละว้า และขนานนามเวียงที่ขยายใหม่นี้ว่า ยางสาย (พื้นเมืองเชียงใหม่ว่าตั้งชื่อเมืองยางเงิน) และทำการเปลี่ยนชื่อแม่น้ำละว้า เป็น แม่น้ำสาย แสดงให้เห็นว่าสถานที่ตั้งของเมืองหิรัญนครเงินยางควรอยู่ติดน้ำแม่สายเชิงดอยตุง ไม่ได้อยู่บริเวณเมืองเชียงแสนดังที่เชื่อถือกันในปัจจุบัน [5] ซึ่งสอดคล้องกับการวิจัยสำรวจพื้นที่ “เวียงพางคำ” ของ วรสิทธิ์ โอภาพ ที่พบว่าเวียงพางคำมีแนวคันดินแบ่งเป็น 2 เวียง โดยมีเมืองอยู่แล้ว แนวคันดินเพิ่งสร้างทีหลังเพื่อขยายเขตตัวเมือง (เวียงพางคำจึงควรเป็นหิรัญนครเงินยาง ไม่ควรเป็นเวียงสี่ตวง-เวียงพานคำของพระเจ้าพรหม)[6]

ความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เกิดขึ้นเมื่อ พญามังรายขึ้นครองราชเป็นกษัตริย์ พระองค์ที่ 25 ของหิรัญนครเงินยางเชียงลาวในปี พ.ศ. 1805 พระองค์ทรงมีแนวพระราชดำริจะรวบรวมแคว้นน้อยใหญ่ในอาณาบริเวณเดียวกันให้เป็นปึกแผ่น

เมื่อพระองค์ได้ทรงขึ้นครองราช พระองค์ได้สร้างเมืองเชียงรายและประทับที่นั่น เป็นราชธานีแห่งใหม่ ถือเป็นการสิ้นสุดราชวงศ์ลาว แห่งหิรัญนครเงินยางเชียงลาว เริ่มต้น ราชวงศ์มังราย แห่งอาณาจักรล้านนา

มีการเสนอว่า บทความนี้หรือส่วนนี้ควรแยกเป็นบทความใหม่ชื่อ ลาวจังราช (อภิปราย)