ประวัติ ของ หุย

ชาวหุย สืบเชื้อสายมาจากมุสลิมชาวเปอร์เซีย อาหรับ และเอเชียกลาง ที่อพยพเข้ามาในจักรวรรดิจีนในฐานะทูตการเมือง ทหาร และพ่อค้า ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 บรรพบุรุษของชาวหุยจึงมีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของจีน โดยเฉพาะบนเส้นทางสายไหมในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ และเมืองท่าแถบชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของจีน พ่อค้ามุสลิมนำสินค้ามีค่า เทคโนโลยีใหม่ และความมั่งคั่งสู่จักรวรรดิจีน เช่น เครื่องเทศ งาช้าง เพชรนิลจินดา พวกเขายังเผยแพร่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ความรู้ด้านดาราศาสตร์ และการแพทย์สู่สังคมจีน[2] ถึงแม้ว่าทางราชสำนักจีนได้จำกัดการค้าและการตั้งบ้านเรือนของชาวมุสลิมไว้ในจัตุรัสชาวต่างชาติเท่านั้น แต่ก็อนุญาตให้พ่อค้ามุสลิมแต่งกายได้อย่างอิสระ รับประทานอาหารและปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเสรี พ่อค้ามุสลิมจำนวนมากยึดประเทศจีนเป็นสถานที่ค้าขายและเริ่มก่อร่างสร้างครอบครัวที่นี่ พวกเขาจำนวนมากหัดพูดภาษาจีนและตั้งถิ่นฐานในประเทศจีนอย่างถาวร พ่อค้าบางคนแต่งงานกับสาวชาวฮั่นที่เปลี่ยนมารับอิสลาม ลูกหลานที่สืบเชื้อสายต่อมาจากพวกเขาจึงพูดภาษาจีน และได้วางรากฐานชุมชนจีนมุสลิมที่กระจัดกระจายออกไปทั่วประเทศจีน

หลายศตวรรษผ่านไป ชาวมุสลิมถูกกลืนเข้าไปในสังคมจีน หลังจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ รัฐบาลได้แบ่งมุสลิมออกเป็น 10 เชื้อชาติ กลุ่มที่ใหญ่ที่สุดคือ ชาวหุย ซึ่งต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ ตรงที่ไม่มีภาษาเป็นของตัวเอง ชาวหุยพูดภาษาจีนกลางของชาวฮั่น พวกเขาเหมือนกับชนกลุ่มน้อยมุสลิมกลุ่มอื่น ๆ ตรงที่นับถืออิสลามเท่านั้น[3]

ชาวหุยมักถูกมองในเรื่องของความไม่เคร่งครัดเกี่ยวกับพิธีการทางศาสนา อิหม่ามหญิง หรือ อะฮง มีให้เห็นเป็นจำนวนมากในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย ชาวหุยเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแต่งกายแบบอิสลามมากขึ้นทั้งชายและหญิง แต่อย่างไรก็ตามในประเทศจีนได้ห้ามมิให้อิหม่ามจากต่างประเทศเข้ามาสอนศาสนาเพื่อความมั่นคงของรัฐ[4][5]