การใช้งาน ของ หุ่นยนต์ส่งของ

ขนส่งอาหาร

ก่อนการระบาดทั่วของโควิด-19 การปรับใช้หุ่นยนต์ส่งอาหารยังมีอยู่ในระดับเล็กน้อย[1] จนเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 มีการปรับใช้หุ่นยนต์ส่งของบางส่วนตามสถาบันการศึกษาในสหรัฐ โดยมหาวิทยาลัยจอร์จเมสันเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่กำหนดรวมการจัดส่งอาหารตามความต้องการด้วยหุ่นยนต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของแผนการจัดอาหารของมหาวิทยาลัย โดยการใช้งานหุ่นยนต์ 25 ตัว จากบริษัทสตาร์ชิปเทคโนโลจิส[2] เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ยังคงแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ความต้องการในการจัดส่งอาหารจึงมีเพิ่มมากขึ้นอย่างสำคัญ ซึ่งเหตุนี้ทำให้ความต้องการต่อหุ่นยนต์ส่งอาหารตามวิทยาลัยต่าง ๆ พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน[1] สตาร์ชิปและบริษัทรายอื่น ๆ เช่น กีวีบอต (kiwibot) ได้ปรับการใช้งานหุ่นยนต์ส่งอาหารหลายร้อยตัวไปยังสถาบันการศึกษาจำนวนมากหรือในบางถนนตามเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐและสหราชอาณาจักร นอกจากนั้น บริษัทที่บริการจัดส่งอาหารยังเพิ่มหุ่นยนต์ส่งของลงไปในแพลตฟอร์มของบริษัทด้วย ตัวอย่างเช่น กรับฮับ (Grubhub) ได้ร่วมมือกับยานเดกซ์ในการให้บริการตามสถานศึกษา สำหรับข้อจำกัดของการใช้หุ่นยนต์ส่งอาหารนั้น คือการขาดความสามารถในการจัดส่งในกรณีได้รับคำสั่งพิเศษ เช่น วางอาหารไว้ที่หน้าประตู และไม่สามารถเดินทางไปยังพื้นที่ที่ยากลำบากได้ ซึ่งด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้ควบคุมอาจต้องสั่งการระยะไกลเพื่อช่วยหุ่นยนต์ให้เดินทางผ่านสิ่งกีดขวางไปได้[1]

ขนส่งของชำ

แดกซ์บอต (Daxbot) กำลังขนส่งของชำ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2018 บริษัทสตาร์ชิปเทโนโลจิสได้เปิดตัวบริการส่งของชำในมิลตันคีนส์ ประเทศอังกฤษ ร่วมกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้าอย่างโค-โอพี (The Co-op) และเทสโก้[3] โดยในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 สตาร์ชิปเทคโนโลจิสได้กล่าวว่า มิลตันคีนส์มี "ฝูงหุ่นยนต์อัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก"[4]

ช่วงต้น ค.ศ. 2022 มีการเปิดตัวของนูริช + บลูม (Nourish + Bloom) ซึ่งเป็นร้านขายของชำอัตโนมัติที่มีเจ้าของเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาแห่งแรกของโลก โดยร้านอัตโนมัตินี้ประมวลผลสินค้าโดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์สำหรับการมองเห็นควบคู่ไปกับเสียงจากปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับท่าทาง นูริช + บลูม มีบริการจัดส่งสินค้าโดยใช้พาหนะจากวิทยาการหุ่นยนต์ ซึ่งดัดแปลงโดยแดกซ์บอต[5] ซึ่งเริ่มการใช้งานในเมืองฟิลอแมธ รัฐออริกอน และเพิ่มการลงทุนผ่านการระดมทุนจากหลากหลายผู้คน ทำให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ที่สามารถเดินทางได้ไกลถึง 10 ไมล์ (ราว 16 กิโลเมตร) ด้วยความเร็ว 4 ไมล์ต่อชั่วโมง รวมทั้งมีพื้นที่บรรทุกสินค้าที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้อีกด้วย[6]

ขนส่งบรรจุภัณฑ์

หุ่นยนต์ส่งของของสตาร์ชิปเทคโนโลจิส กำลังข้ามถนนในกรุงทาลลินน์ (ฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. 2022)

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2019 แอมะซอนเปิดตัวบริการทดลองส่งบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็กสำหรับลูกค้าแอมะซอน ไพร์ม (Amazon Prime) โดยใช้หุ่นยนต์ส่งของที่เรียกว่าแอมะซอนสเกาต์ (Amazon Scout) การทดสอบเสร็จสมบูรณ์ในภูมิภาคซีแอตเทิลและเริ่มขยายสู่เออร์ไวน์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย แอตแลนตาในรัฐจอร์เจีย และแฟรงคลินในรัฐเทนเนสซี[7] ใน ค.ศ. 2021 ภายหลังการทดสอบหุ่นยนต์จัดส่งบรรจุภัณฑ์เสร็จสิ้นใน 4 เมืองของสหรัฐ แอมะซอนจึงสร้างศูนย์พัฒนาแห่งใหม่ในประเทศฟินแลนด์เพื่อสร้างความก้าวหน้าเพิ่มเติมในเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของบริษัท เพื่อจัดการกับการเดินทางในชีวิตจริงได้ดียิ่งขึ้น[8]

ขนส่งทางการแพทย์

หุ่นยนต์ขนส่งทางการแพทย์ที่ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์ก

หุ่นยนต์ส่งของถูกตั้งค่าให้สามารถดำเนินการภารกิจในโรงพยาบาลได้เป็นจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน การปฏิบัติภารกิจแรกคือการจัดส่งอาหาร สิ่งส่งตรวจทางการแพทย์ และยา โดยหุ่นยนต์ส่งของมีการติดตั้งตัวรับรู้เป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถเดินทางภายในเส้นทางที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถร้องขอขึ้นลิฟต์เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานในอาคารหลายชั้นได้ สำหรับหุ่นยนต์ส่งของบางตัวอาจมีการใส่รหัสและระบบสแกนลายนิ้วมือเพื่อป้องกันการเข้าถึงเนื้อหาภายในหุ่นยนต์โดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นผลมาจากข้อกังวลด้านความปลอดภัย ข้อมูลเมื่อ ค.ศ. 2019 มีโรงพยาบาลมากกว่า 150 แห่งในสหรัฐ และในแห่งอื่น ๆ ที่ได้ปรับใช้หุ่นยนต์ส่งของ การปฏิบัติภารกิจที่สองคือการลากบรรทุกผ้าลินินปนเปื้อนและสิ่งปฏิกูลทางการแพทย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องใช้หุ่นยนต์ส่งของที่เหมาะสมประสิทธิภาพ เนื่องจากน้ําหนักที่ต้องบรรทุกอาจเป็นปริมาณหลายร้อยปอนด์ (หลายร้อยกิโลกรัม)[9][10]

ในประเทศอิสราเอล ศูนย์การแพทย์เชบา (Sheba Medical Center) ใช้หุ่นยนต์ส่งของเพื่อรับส่งยาเคมีบำบัดที่จัดเตรียมโดยแผนกเวชภัณฑ์ส่งให้ถึงพยาบาลโดยตรงเพื่อหย่นระยะเวลา[11]

บริการโรงแรม

โยลันดา (Yolanda) หุ่นยนต์บริการโรงแรมที่โรงแรมโยเตล (Yotel) ประเทศสิงคโปร์ สำหรับใช้เพื่อนำทางจากห้องโถงสู่ห้องพักแขก

ช่วงปลาย ค.ศ. 2014 ซาวีโอเก (Savioke) บริษัทหุ่นยนต์วิสาหกิจเริ่มต้น เปิดตัวหุ่นยนต์บริการโรงแรมชื่อว่า "เรเลย์" (Relay) เมื่อพนักงานโรงแรมได้รับคำสั่งจากแขก พนักงานจะใส่ของไว้ในตัวเรเลย์ แล้วให้หุ่นยนต์ไปส่งของให้กับห้องพักแขก โดยใน ค.ศ. 2016 ฝูงหุ่นยนต์เรเลย์ได้มีการปรับใช้ในเครือโรงแรมห้าดาวหลายแห่ง[12] จนในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2017 โรงแรมเอ็ม โซเชียลในประเทศสิงคโปร์เปิดตัวหุ่นยนต์บริการโรงแรมที่ชื่อว่า "ออรา" (AURA) เพื่อช่วยเหลือพนักงาน เช่น ส่งขวดน้ำดื่มและผ้าเช็ดตัวสำหรับห้องพักแขก ซึ่งนับเป็นบริการครั้งแรกที่อยู่นอกสหรัฐ[13]

ใกล้เคียง

หุ่นยนต์ หุ่นยนต์ในกันดั้มดับเบิลโอ หุ่นยนต์ส่งของ หุ่นยนต์มือปราบผู้พิทักษ์แจนเปอร์สัน หุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ หุ่นยนต์รักสัมผัสใจ หุ่นยนต์อัตโนมัติ หุ่นยนต์ตำรวจ หุ่นยนต์อาซิโม หุ่นยนต์แมลงคาบูทัก

แหล่งที่มา

WikiPedia: หุ่นยนต์ส่งของ https://apnews.com/article/coronavirus-robot-food-... https://www.washingtonpost.com/technology/2019/01/... https://www.thegrocer.co.uk/co-op-expands-robot-de... https://www.mkfm.com/news/local-news/milton-keynes... https://www.nbcnews.com/nightly-news/video/inside-... https://www.grocerydive.com/news/retail-startup-op... https://www.usatoday.com/story/tech/2020/07/22/ama... https://www.cnbc.com/2021/07/01/amazon-plans-to-bu... https://www.cnbc.com/2015/04/30/pricy-robots-tug-h... https://www.aamc.org/news-insights/robots-make-rou...