แก่นเรื่อง ของ ห้าแก่นเรื่องทางภูมิศาสตร์

ห้าแก่นเรื่องถูกแทนที่โดยมาตรฐานภูมิศาสตร์เพื่อชีวิต (the Geography for Life standards) ซึ่งเผยแพร่โดยสมาคมภูมิศาสตร์แห่งชาติ (National Geographic Society) ของสหรัฐอเมริกา มาตรฐานมีทั้งหมดสิบแปดตัวชี้วัดและประกาศใช้ใน ค.ศ. 1994 อย่างไรก็ตามทั้งห้าแก่นเรื่องยังคงถูกใช้ในสถานศึกษาหลายแห่ง[1] ห้าแก่นเรื่องประกอบด้วย[2]

ที่ตั้ง

ทุกจุดบนพื้นโลกมีที่ตั้ง ที่ตั้งสามารถระบุได้สองประเภท ดังนี้

  • ที่ตั้งสัมบูรณ์ (Absolute location) คือ ที่ตั้งที่ระบุด้วยละติจูดและลองจิจูดของโลก ตัวอย่างเช่น พิกัดของเมืองออลบานี รัฐนิวยอร์กอยู่ที่ 42.6525 องศาเหนือ และ 73.7572 องศาตะวันออก
  • ที่ตั้งสัมพันธ์ (Relative location) คือ ที่ตั้งที่ระบุด้วยสถานที่ใกล้เคียง ตัวอย่างเช่น เมืองออลบานี รัฐนิวยอร์ก อยู่ห่างจากนครนิวยอร์กประมาณ 140 ไมล์ทางเหนือ

สถานที่

สถานที่เป็นบริเวณที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งต่าง ๆ ในพื้นที่นั้น ๆ ทุกสถานที่มีคุณลักษณะเฉพาะตัวและทำให้แตกต่างจากสถานที่อื่น ๆ ประกอบด้วย

  • ภูมินาม (Toponym) คือ ชื่อของสถานที่ โดยเฉพาะชื่อที่ตั้งตามลักษณะภูมิประเทศ
  • ตำแหน่ง (Site) คือ บริเวณพื้นที่ที่การก่อสร้างเมือง อาคาร หรืออนุสาวรีย์
  • สภาพแวดล้อม (Situation) คือ ที่ตั้งและสภาพแวดล้อมของสถานที่
  • ประชากร (Population) คือ จำนวนของผุ้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม

แก่นเรื่องนี้อธิบายถึงว่าผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างไรและสิ่งแวดล้อมมีผลกระทบกลับมาอย่างไร ประกอบด้วยแนวคิดหลักสามประการ[3] คือ

  • การพึ่งพา (Dependenc) คือ มนุษย์ขึ้นอยู่กับกับสิ่งแวดล้อม
  • การปรับตัว (Adaptation) คือ มนุษย์ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม
  • การเปลี่ยนแปลง (Modification) คือ มนุษย์เปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม

การเคลื่อนย้าย

การเคลื่อนย้าย คือการเดินทางของผู้คน สินค้า และความคิดจากที่หนึ่งไปยังที่อื่น ๆ อาทิเช่น การขยายอาณาเขตไปทางตะวันตกของประเทศสหรัฐ การปฏิวัติสารสนเทศ และการย้ายถิ่นเข้าประเทศ สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เช่นเครื่องบินและอินเทอร์เน็ตทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของสินค้าและอุดมการณ์สามารถผ่านไปในระยะทางที่ยาวไกลแต่ใช้เวลาน้อย การเดินทางของบุคคลจากสถานที่หนึ่งไปยังอีกสถานที่และตัวเลือกในการเดินทางของพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนย้ายด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น รถยนต์ รถโดยสารประจำทาง เครื่องบิน และเรือ เป็นต้น

ภูมิภาค

ภูมิภาคเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะตัว ประกอบด้วยลักษณะของมนุษย์ อาทิ ประชากร หรือการเมือง และลักษณะทางกายภาพ อาทิ ภูมิอากาศ และพืชพรรณ ตัวอย่างเช่น สหรัฐถือเป็นภูมิภาคทางการเมืองเนื่องจากสหรัฐมีรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งในการบริหารประเทศ