ประวัติ ของ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

ไฟล์:BMTA ClassicBus.jpgภาพรถประจำทางปรับอากาศ แสดงสัญลักษณ์ของ ขสมก ในระยะแรก ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับตราสัญลักษณ์ของระบบขนส่งมวลชนในประเทศอังกฤษ จึงต้องเปลี่ยนใหม่ในเวลาต่อมา

ความเป็นมาของกิจการรถเมล์ในกรุงเทพมหานคร ตามประวัติกล่าวว่า รถโดยสารประจำทาง ในสมัยก่อนเรียกว่า รถเมล์ เข้าใจว่า คงเรียกชื่อตามเรือเมล์ รถเมล์ที่มีครั้งแรกนั้น ใช้กำลังม้าลากจูง ไม่ต้องอาศัยน้ำมันเชื้อเพลิง ให้เป็นภาระเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบการเช่นในปัจจุบัน โดยมีพระยาภักดีนรเศรษฐ (เลิศ เศรษฐบุตร) เป็นผู้ริเริ่มกิจการรถเมล์ เมื่อราวปี พ.ศ. 2450 วิ่งระหว่างสะพานยศเส (สะพานกษัตริย์ศึกในปัจจุบัน) ถึงประตูน้ำสระปทุม แต่เนื่องจากใช้ม้าลาก จึงไม่รวดเร็วทันใจ และไม่สามารถให้ความสะดวกแก่ผู้โดยสารได้เพียงพอ ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 พระยาภักดีนรเศรษฐ จึงได้ปรับปรุงกิจการใหม่ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการเดินรถ โดยนำรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด มาวิ่งแทนรถม้าลาก และขยายเส้นทางให้ไกลขึ้น จากประตูน้ำสระปทุม ถึงบางลำพู (ประตูใหม่ตลาดยอด)

รถยนต์ที่ใช้เป็นรถโดยสารประจำทางครั้งแรก มี 3 ล้อ ขนาดประมาณ 1 ใน 3 ของรถโดยสารประจำทางในปัจจุบัน มีที่นั่ง 2 แถว ทาสีขาว มีรูปกากบาทสีแดงอยู่ตอนกลางรถ นั่งได้ประมาณ 10 คน ชาวพระนครสมัยนั้นเรียกว่า อ้ายโกร่ง เพราะจะมีเสียงดังโกร่งกร่าง เมื่อวิ่งไปตามท้องถนน ประชาชนได้รับความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง จึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย การเดินรถเมล์ก็ขยายตัวอย่างกว้างขวางออกไปทั่วกรุงเทพฯ ในนามของ บริษัท นายเลิศ จำกัด (บริษัทรถเมล์ขาว) การประกอบกิจการเดินรถเมล์เริ่มขยายตัวขึ้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 150 ปี พุทธศักราช 2475 พร้อมทั้งจัดสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเชื่อมการคมนาคมระหว่างฝั่งพระนคร และธนบุรี ไวเป็นอนุสรณ์ของงานสมโภชครั้งนี้

ต่อมาในปี พ.ศ. 2476 กิจการรถเมล์เริ่มเป็นปึกแผ่น มีเศรษฐีชาวจีนเล็งเห็นว่า เป็นอาชีพที่มั่นคง และทำรายได้ดีอย่างหนึ่ง จึงได้ก่อตั้ง บริษัท ธนนครขนส่ง จำกัด ขึ้น เพื่อประกอบกิจการเดินรถเมล์ จากตลาดบางลำพู ถึงวงเวียนใหญ่ หลังจากนั้น ได้มีผู้ลงทุนตั้งบริษัทเดินรถเมล์เพิ่มขึ้นถึง 24 แห่ง นอกจากนี้ หน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ อย่างเทศบาลนครกรุงเทพ, เทศบาลเมืองนนทบุรี, บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) ก็เปิดเดินรถเมล์ด้วย โดยในขณะนั้น มีผู้ประกอบการเดินรถเมล์ในกรุงเทพฯ รวมถึง 28 ราย

หลังจากสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง หน่วยราชการต่างๆ จำหน่ายรถบรรทุกออกมาให้เอกชนเป็นจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งนำมาดัดแปลงเป็นรถ เมล์ ทั้งนี้ บริษัทเอกชนยังเลือกเส้นทางเดินรถเอง ที่ไม่ซ้ำกับเส้นทางที่มีรถรางวิ่งอย่างเสรี จึงก่อให้เกิดระบบแข่งขันทางธุรกิจขึ้น รัฐบาลจึงได้ออก พระราชบัญญัติการขนส่ง พุทธศักราช 2497 มาใช้ควบคุม โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการรถเมล์ ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งด้วย

ในระยะหลัง การให้บริการรถเมล์เริ่มเกิดความสับสน มีการเดินรถทับเส้นทางกันบ้าง แก่งแย่งผู้โดยสารกันบ้าง การให้บริการของแต่ละบริษัท ก็ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ปล่อยให้มีการเดินรถอย่างเสรี ทำให้เกิดปัญหาการจราจรคับคั่ง เนื่องจากจำนวนรถในท้องถนน มีมากกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งผลเสียทั้งหมด ล้วนตกอยู่กับผู้ใช้บริการทั้งสิ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการก็ประสบปัญหาค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 เป็นต้นมา แต่ผู้ประกอบการ ไม่สามารถปรับอัตราค่าโดยสารให้เพิ่มขึ้น ในอัตราที่สมดุลกับราคาน้ำมันได้ ตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้หลายบริษัทเริ่มประสบปัญหาขาดทุน บางบริษัทก็มีฐานะทรุดลง จนไม่สามารถรักษาระดับบริการที่ดีแก่ประชาชนต่อไปได้

ต่อมา ราวเดือนกันยายน พ.ศ. 2518 คณะรัฐมนตรีสมัยที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้มีมติให้รวมกิจการเดินรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครเป็นบริษัทเดียว เรียกว่า บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ในรูปรัฐวิสาหกิจ ประเภทบริษัทจำกัด โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น ระหว่างรัฐและเอกชน เป็น 51 ต่อ 49% แต่เกิดปัญหาข้อกฎหมายการจัดตั้ง ในรูปแบบของการประกอบกิจการขนส่ง

ดังนั้น ในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช จึงได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเป็นองค์การของรัฐ ให้ชื่อว่า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยควบรวมกิจการรถโดยสารประจำทางทั้งหมด จากบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด มาขึ้นอยู่กับองค์การฯ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทกิจการสาธารณูปโภค สังกัดกระทรวงคมนาคม มีภารกิจ และขอบเขตความรับผิดชอบ ในการจัดบริการรถโดยสารประจำทาง รับ-ส่งผู้โดยสารในเขตกรุงเทพมหานคร และจังหวัดปริมณฑล 5 จังหวัดคือ สมุทรปราการ, นนทบุรี, ปทุมธานี, นครปฐมและสมุทรสาครตามพระราชกฤษฎีกาฉบับที่ 2 ที่มีผลบังคับใช้ในปีเดียวกันโดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 3 ล้านคนต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ประกอบการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับ หรือต่อเนื่องกับการประกอบการขนส่งบุคคล

ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2559 ที่ประชุมได้มีมติให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2526 และให้โอนการกำกับดูแลการเดินรถขนส่งสาธารณะจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพไปอยู่ภายใต้การกำกับของ กรมการขนส่งทางบก ส่งผลให้ ขสมก. มีสถานะเป็นเพียงผู้เดินรถรายหนึ่งเท่านั้น

และเนื่องจากการเดินรถโดยสารประจำทาง เป็นสาธารณูปโภคชนิดหนึ่ง ที่รัฐจัดเป็นบริการแก่ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และปานกลางเป็นหลัก การดำเนินงานจึงมุ่งสนองนโยบายรัฐบาล ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อย โดยไม่หวังผลกำไร การจัดเก็บค่าโดยสาร จึงอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนจริง ตามที่รัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดนโยบาย การให้บริการของ ขสมก มุ่งหมายให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินรถของผู้โดยสารเป็นหลัก[3]

กรรมการ

ณ วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2561[4] มีจำนวนกรรมการดังนี้

  • นาย ณัฐชาติ จารุจินดา เป็น ประธานกรรมการ
  • พลเอก วราห์ บุญญะสิทธิ เป็น กรรมการ
  • นางสาว สุทธิรัตน์ รัตนโชติ เป็น กรรมการ
  • นาย สมศักดิ์ ห่มม่วง เป็น กรรมการ
  • รองศาตราจารย์ ดร. ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ เป็น กรรมการ
  • นาย ยุกต์ จารุภูมิ เป็น กรรมการ
  • นาย ศรศักดิ์ แสนสมบัติ เป็นกรรมการ
  • ดร. ชัยชนะ มิตรพันธ์ เป็น กรรมการ
  • รองศาสตราจารย์ ดร. วันชัย รัตนวงษ์ เป็น กรรมการ
  • นาย วิชิต จรัสสุขสวัสดิ์ เป็น กรรมการ

ตราสัญลักษณ์

  • ตราสัญลักษณ์ของ บริษัท มหานครขนส่ง จำกัด และ ขสมก. (พ.ศ. 2518-พ.ศ. 2535)
  • ตราสัญลักษณ์ของ ขสมก. (พ.ศ. 2535-2557)
  • ตราสัญลักษณ์ของ ขสมก. (พ.ศ. 2557-ปัจจุบัน)

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ใช้ตราสัญลักษณ์มาแล้วสามรูปแบบ กล่าวคือ นับแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ในปี พ.ศ. 2518 ใช้ตราสัญลักษณ์เป็นภาพวงกลม ซึ่งมีเส้นรอบวง เป็นสีแดงขอบหนา มีแถบรูปหกเหลี่ยมสีน้ำเงินเข้มคาดทับ ตามแนวขวางในส่วนกลางของวงกลม บนแถบดังกล่าว มีตัวอักษรสีขาวเป็นชื่อบริษัทว่า มหานครขนส่ง เมื่อเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นองค์การฯ ก็เปลี่ยนข้อความบนแถบเป็นชื่อ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยใช้มาจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2535 จึงเปลี่ยนไปใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่ (อย่างไม่เป็นทางการ) เป็นภาพวงรีสีเขียวขอบหนา ปลายทั้งสองวางตามแนวบนขวาไปล่างซ้าย มีอักษรย่อขององค์การฯ ขสมก สีน้ำเงิน เอนไปทางขวา คาดทับตามแนวขวางในส่วนกลางของวงรี เนื่องจากแบบเดิม มีลักษณะคล้ายกับ ตราสัญลักษณ์ของรถไฟใต้ดินลอนดอน โดยเริ่มปรากฏบนรถโดยสารบางส่วน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปีเดียวกัน หลังจากนั้น ขสมก.ก็ทยอยเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ ที่แสดงบนรถโดยสาร กระทั่งราวต้นปี พ.ศ. 2536 จึงดำเนินการแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ และจึงเริ่มใช้ตราสัญลักษณ์นี้อย่างเป็นทางการ โดยใช้ตราสัญลักษณ์รูปแบบดังกล่าว มาจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2557[ต้องการอ้างอิง]

ต่อมาในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ขสมก จัดโครงการประกวด ออกแบบตราสัญลักษณ์ และสีตัวถังรถประจำทางใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ขององค์การฯ ให้ทันสมัย รองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และภารกิจขององค์การฯ โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วม[5] ซึ่งแบบของกิตติบดี บัวหลวงงาม ชนะเลิศในการประกวดดังกล่าว โดยทาง ขสมก ประกาศใช้ตราสัญลักษณ์ใหม่นี้ ตั้งแต่วันครบรอบ 38 ปีแห่งการสถาปนาองค์การฯ คือวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เป็นต้นไป[6] โดยตราสัญลักษณ์นี้ได้ปรากฏให้สาธารณชนเห็นอย่างโจ่งแจ้งในช่วงกลางปี 2558

ใกล้เคียง

องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ องค์กรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ องค์กรคริสตจักรสัมพันธ์ในประเทศไทย องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์กรลับดับพยัคฆ์ร้าย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

แหล่งที่มา

WikiPedia: องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ http://www.bmta.co.th http://www.bmta.co.th/?q=th/content/%E0%B8%9B%E0%B... http://www.bmta.co.th/?q=th/content/%E0%B8%9B%E0%B... http://www.bmta.co.th/th/about_history.php http://www.bmta.co.th/th/services.php http://www.dailynews.co.th/article/626/16200 http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsI... http://www.sepo.go.th/download/category/1158-3-ser... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2519/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2519/A/...