งานสำคัญ ของ อดัม_สมิธ

Inquiry into the nature and causes of the wealth of nations, 1922
  • ทฤษฎีว่าด้วยศีลธรรมเร้าอารมณ์ (The Theory of Moral Sentiments) (พ.ศ. 2302)
  • การสอบสวนธรรมชาติและสาเหตุแห่งความมั่งคั่งของประชาชาติ (An Inquiry Into the Nature and Causes of the Wealth of Nations) ( พ.ศ. 2319)
  • ความเรียงต่างๆ ว่าด้วยเรื่องของปรัชญา (Essays on Philosophical Subjects) (ตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตแล้ว พ.ศ. 2338)
  • Lectures on Jurisprudence (ตีพิมพ์หลังการเสียชีวิตแล้ว พ.ศ. 2519)

หลักการภาษีของอดัม สมิธในหนังสือ An Inquiry into the Nature and Causes of the Wealth of Nations นั้น แอดัม สมิธได้กำหนดหลัก (maxim) 4 ข้อเกี่ยวกับการภาษีโดยทั่วไป ดังนี้ (ที่ http://www.econlib.org/LIBRARY/Smith/smWNtoc.html ภาค 5 บทที่ 2 ย่อหน้า 24 หรือย่อว่า V.2.24)

  1. คนในบังคับของรัฐทุกรัฐพึงจ่ายเงินค้ำจุนรัฐบาลตามส่วนกับความสามารถของตน นั่นคือ ตามส่วนกับประโยชน์ที่ตนได้รับภายใต้การคุ้มครองของรัฐ
  2. ภาษีที่แต่ละคนต้องจ่ายพึงมีความแน่นอน ไม่ใช่กำหนดตามอำเภอใจ กำหนดเวลาชำระ วิธีชำระ และจำนวนที่ต้องชำระพึงมีความชัดเจน เข้าใจง่ายสำหรับผู้ชำระและทุกราย
  3. พึงเก็บภาษีทุกชนิดในเวลาหรือโดยวิธีที่น่าจะสะดวกที่สุดสำหรับผู้จ่าย
  4. พึงคิดหาวิธีที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุดในการจัดเก็บภาษีทุกชนิดแก่ทั้งรัฐและผู้จ่ายภาษี ความสิ้นเปลืองนี้แบ่งได้เป็น 4 ประการ คือ
    1. ใช้เจ้าหน้าที่จำนวนมาก หรือต้องตั้งรางวัลมาก
    2. ภาษีอาจขัดขวางความอุตสาหะของราษฎร พลอยทำให้การมีงานทำและรายได้ลดลง
    3. การริบทรัพย์หรือปรับผู้ที่พยายามหลบเลี่ยงภาษีมักทำให้พวกเขาหมดตัว ทำให้กลายเป็นคนไร้ประโยชน์ต่อสังคม ภาษีที่เลวมักล่อใจให้คนลักลอบค้าของเถื่อน และโทษก็จะเพิ่มขึ้นตามแรงดึงดูดใจ ในขั้นแรกกฎหมายซึ่งขัดกับหลักยุติธรรมจะล่อใจให้อยากละเมิด แล้วก็จะลงโทษอย่างรุนแรงในสถานการณ์ซึ่งควรลดแรงล่อใจให้ก่ออาชญากรรม
    4. การที่ราษฎรถูกเยี่ยมกรายบ่อยและถูกตรวจสอบอย่างน่ารังเกียจจะก่อความเดือดร้อน รบกวน และกดขี่อย่างมากโดยไม่จำเป็น แม้การรบกวนจะมิใช่ค่าใช้จ่าย แต่ทุกคนก็ยินดีจ่ายเพื่อไถ่ตนเองให้พ้นจากการรบกวนนี้

อดัม สมิธเห็นว่าภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีกำไร (ส่วนใหญ่คือดอกเบี้ยสำหรับทุน) จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากเกินไปในการเก็บ เช่น ภาษีสรรพสามิต หรือทำให้ผู้ผลิตท้อถอย เช่น ภาษีกำไร สมิธคัดค้านภาษีที่เปิดโอกาสให้มีการรุกล้ำความเป็นส่วนตัว สำหรับภาษีสรรพสามิตนั้น ท่านกล่าวว่า “ทำให้ทุกครอบครัวอาจถูกเยี่ยมกรายและตรวจสอบอย่างน่ารังเกียจจากเจ้าพนักงานภาษี...ไม่สอดคล้องกับเสรีภาพเลย” (V.3.75)

ภาษีที่อดัม สมิธเสนอแนะให้เก็บมี 2 ชนิด คือ ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย และ ภาษีค่าเช่าที่ดิน (มูลค่าครอบครองที่ดินรายปี)

สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย อดัม สมิธอธิบายคำว่า ‘จำเป็น’ ว่าอาจเปลี่ยนไปได้แล้วแต่สถานที่และเวลา ซึ่งขณะนั้น เสื้อผ้าลินิน รองเท้าหนัง อาหารและที่อยู่อาศัยขั้นต่ำถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ท่านตำหนิรุนแรงว่าภาษีที่เก็บจากสินค้าจำพวกเกลือ สบู่ ฯลฯ เป็นการเอาจากคนที่ยากจนที่สุดโดยไม่เป็นธรรม ท่านถือว่าภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย เช่นยาสูบ เป็นภาษีที่ดีเลิศ เพราะไม่มีใครถูกบังคับให้ต้องจ่าย “ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยไม่มีแนวโน้มที่จะไปเพิ่มราคาโภคภัณฑ์อื่น ๆ เว้นแต่โภคภัณฑ์ที่ถูกเก็บภาษี … ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยนั้นในที่สุดผู้บริโภคสิ่งนั้นจะเป็นผู้จ่ายโดยไม่ใช่เป็นการลงโทษ” (V.2.154)

ภาษีที่น่ายกย่องมากกว่าคือภาษีที่ดิน “ทั้งค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคาร (ground-rents) และค่าเช่าที่ดินเกษตร (ordinary rent of land) ต่างเป็นรายได้ชนิดที่ส่วนมากเจ้าของได้รับโดยตนเองมิต้องเอาใจใส่หรือสนใจ แม้จะแบ่งรายได้นี้ส่วนหนึ่งไปเป็นค่าใช้จ่ายของรัฐก็จะไม่เกิดการท้อถอยแก่อุตสาหกรรมใด ๆ ผลผลิตรายปีของที่ดินและแรงงานแห่งสังคม ซึ่งเป็นทรัพย์และรายได้จริงของประชาชนส่วนใหญ่ จะยังคงเดิมหลังจากมีการเก็บภาษีนี้ ดังนั้นค่าเช่าที่ดินที่ตั้งอาคารและค่าเช่าที่ดินเกษตรอาจเป็นรายได้ชนิดที่สามารถจะเก็บภาษีเป็นพิเศษได้ดีที่สุด” (V.2.75)

ในภาคแรกอดัม สมิธกล่าวไว้ว่า “ดังนั้นค่าเช่าที่ดิน ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่จ่ายสำหรับการใช้ที่ดิน จึงเป็นราคาแบบผูกขาดโดยธรรมชาติ มิใช่เป็นอัตราส่วนกับการซึ่งเจ้าที่ดินอาจลงทุนไปเพื่อปรับปรุงที่ดินแต่อย่างใดเลย หรือมิใช่ตามส่วนกับความสามารถที่เขาจะเรียกเอา แต่เป็นตามส่วนกับความสามารถของชาวนาที่จะให้” (I.11.5)

และในตอนสรุปของบทนี้ของภาคแรก อดัม สมิธได้ตั้งข้อสังเกตว่า “การทำให้สภาวการณ์ของสังคมดีขึ้นทุกอย่างมีแนวโน้มที่จะทำให้ค่าเช่าแท้จริงของที่ดินสูงขึ้นไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จะเพิ่มความมั่งคั่งแท้จริงให้แก่เจ้าที่ดิน เพิ่มกำลังซื้อของเขาต่อแรงงาน หรือผลผลิตแห่งแรงงานของผู้อื่น” (I.11.255)

“การขยายสิ่งปรับปรุงและการเพาะปลูกมักจะทำให้ค่าเช่าที่ดินสูงขึ้นโดยตรง ส่วนแบ่งของเจ้าที่ดินในผลผลิตย่อมจะต้องเพิ่มขึ้นเมื่อผลผลิตเพิ่มขึ้น” (I.11.256)

ภาษีที่สมิธคัดค้านรุนแรงที่สุดคือภาษีที่เก็บจากค่าแรงของผู้ใช้แรงงาน - “ในทุกกรณี ภาษีทางตรงที่เก็บจากค่าแรง ในระยะยาวแล้วย่อมจะทำให้ทั้งค่าเช่าที่ดินลดลงมากกว่าและราคาสินค้าประดิษฐกรรมแพงขึ้นมากกว่าที่จะเป็นถ้ามีการประเมินเก็บภาษีส่วนหนึ่งจากค่าเช่าที่ดินและอีกส่วนหนึ่งจากสินค้าแทน (ภาษีจากค่าแรง) ” (V.2.132)