ประวัติ ของ อดุล_จันทรศักดิ์

อดุล จันทรศักดิ์ นักเขียนและกวีผู้ใช้นามปากกาว่า "ธารี" และ "อัคนี หฤทัย" ฯลฯ เกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2489 แต่เติบโตที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากบิดารับราชการที่โรงงานสุรา สังกัดกรมอุตสาหกรรม (ปัจจุบันย้ายมาสังกัดกรมสรรพสามิต) ได้ย้ายมาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. 2502 ขณะนั้น นายอดุล จันทรศักดิ์มีอายุได้ 13 ปี โดยครอบครัวได้ตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน นายอดุล จันทรศักดิ์ มีพี่สาว 1 คน ส่วนตนเองเป็นลูกคนที่ 2 เริ่มเรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนปราจิณราษฎรอำรุง[3] จังหวัดปราจีนบุรี ได้ข้ามชั้น 1 ปี และเมื่อ พ.ศ. 2500 เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 (เท่าก้บมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปัจจุบัน) ได้ย้ายเข้ามาเรียนต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพมหานคร และเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบรัฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มรับราชการที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) จนดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้อำนวยการสำนักเสริมสร้างวินัยและรักษาระบบคุณธรรม แล้วโอนไปรับราชการเป็นข้าราชการตุลาการ ที่ศาลปกครอง ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองอธิบดีศาลปกครองพิษณุโลก

นายอดุล จันทรศักดิ์ เริ่มแต่งร้อยกรองตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยม เมื่อเป็นนิสิต ได้เป็นตัวแทนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าแข่งขันกลอนสดระหว่างสถาบัน เคยได้รับรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ มีผลงานกลอนรวมเล่มกับนักกลอนร่วมสมัยหลายเล่ม นายอดุล จันทรศักดิ์ ยังคงสร้างสรรค์ผลงานกวีนิพนธ์ อย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยเขียนบทกวีประจำในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ บทกวีเหล่านี้เป็นผลงานที่มีคุณค่า ภายหลังได้นำมารวมเล่ม ได้รับรางวัลระดับชาติหลายรางวัลและยังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผลงานคีตศิลป์ต่อเนื่องไปอีกด้วย กวีนิพนธ์ของนายอดุล จันทรศักดิ์ เป็นการสื่อสารแก่สังคมให้ผู้อ่านได้ร่วมรับรู้ ร่วมรู้สึก ร่วมคิด ทั้งคิดย้อนคิดแย้ง ทำให้เกิดพลังทางปัญญาและได้รับความสะเทือนอารมณ์อย่างลุ่มลึกไปพร้อมกัน นายอดุล จันทรศักดิ์ ได้สร้างสรรค์ผลงานมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 40 ปี และยังคงทำงานเขียนต่อไปด้วยใจรักอย่างแท้จริง

เมื่อปลาย พ.ศ. 2510 นายอดุล จันทรศักดิ์ ได้สร้างผลงานกลอนชื่อ บทเพลงเหนือสุสาน ซึ่งใช้นามปากกา "ธารี" จนได้รับรางวัลเกียรตินิยมวรรณศิลป์ของชมรมวรรณศิลป์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บทกวีนี้มีเนื้อหาต่อต้านการที่รัฐบาลไทยส่งทหารไปช่วยสหรัฐอเมริกาทำสงครามเวียดนาม

หนังสือ "ณ กาลเวลา" รวมผลงานกวีของ นายอดุล จันทรศักดิ์

ส่วนผลงานกลอนของนายอดุล จันทรศักดิ์ ได้ตีพิมพ์รวมเล่มกับนักกลอนร่วมสมัยหลายเล่มอย่าง "ไฟอารมณ์" ซึ่งรวมกลอนกับเพื่อนนักกลอนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "นิล" รวมกลอนกับเพื่อนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง "ลอยชาย" และ "ใบไม้แห่งนาคร" รวมกลอนกับเพื่อนต่างคณะและต่างมหาวิทยาลัย แต่ไม่เพียงเท่านี้ นายอดุล จันทรศักดิ์ ยังเป็นสมาชิกประจำในการเล่นสักวากลอนสดของสโมสรสยามวรรณศิลป์ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่ได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะองค์กรส่งเสริมวัฒนธรรมไทยดีเด่น

เมื่อ พ.ศ. 2532 นายอดุล จันทรศักดิ์ ได้รับเชิญจากนายสุภาพ คลี่ขจาย อดีตประธานชมรมวรรณศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เขียนกลอนประจำหน้า 3 หนังสือพิมพ์แนวหน้าวันอาทิตย์ โดยใช้นาม ปากกา "อัคนี หฤทัย" ซึ่งเป็นการเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างคมคาย โดยต่อมาได้รวมเล่มและใช้ชื่อว่า "ดอกไม้ไฟ" จึงได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นประเภทกวีนิพนธ์จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2535 ได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อนึ่งบทกวีชื่อ "จุมพิตและเพลงลา" และ "ตำนานถนนราชดำเนิน" ได้รับยกย่องเป็นบทกวีดีเด่นของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2534 และปี พ.ศ. 2535 ตามลำดับ

ต่อมาจากนั้น นายอดุล จันทรศักดิ์ ยังได้รับเชิญจากนายขรรค์ชัย บุนปาน ให้เขียนกลอนประจำในหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันอาทิตย์ โดยใช้ชื่อคอลัมน์ว่า "ณ กาลเวลา" และใช้นามปากกา "อัคนี หฤทัย" ตลอดระยะเวลา 5 ปี ซึ่งในคอลัมน์ดังกล่าวเขาได้แสดงทัศนวิพากษ์บุคคลและสังคมด้วยคารมคมคาย ด้วยความคิดอิสระและลีลาวรรณศิลป์ที่งดงาม จนคณะกรรมการกองทุนหม่อมราชวงศ์อายุมงคล โสณกุล จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ "อัคนี หฤทัย" ได้รับรางวัลนักเขียนคอลัมน์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2548

ส่วนความหมายต่าง ๆ หรือที่มาของนาม ปากกานั้น นายอดุล จันทรศักดิ์ บันทึกไว้ว่า "...ชีวิตของอดุล จันทรศักดิ์ เป็นขั้นที่ราบเรียบและมั่นคงของนักกฎหมาย ทอดสูงขึ้นไปอย่างภาค ภูมิใจในแต่ละช่วงชีวิต ตั้งแต่เริ่มต้นถึงขั้นปลาย โดยอีกนัยหนึ่งถ้ามองถึงบุคคลท่านนี้จะมีถึงสามบทบาท อาจสรุปได้ว่าชื่อของ อดุล จันทรศักดิ์ เป็นหน้าที่ อัคนี หฤทัย เป็น ปัญญา และธารี เป็นอารมณ์ ซึ่งเกื้อหนุนซึ่งกันและกันในการดำเนินชีวิตไปได้ด้วยคุณค่าจะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ครบถ้วน สมบูรณ์ โดย อดุล จันทรศักดิ์ รู้ว่าตัวเองต้อง ทำอะไร อัคนี หฤทัย รู้ว่าตัวเองควรทำอะไร ส่วนธารี นั้นรู้ว่าตัวเองอยากทำอะไร และเมื่อครบทั้งสามประการ อดุล จันทรศักดิ์ อัคนี หฤทัย และธารี จึงสามารถล่องแพไม้ ไผ่กลางกระแสธารของกาลเวลามายาวนาน กว่า 40 ปี อย่างที่เห็นจนถึงปัจจุบัน..."

สำหรับจุดเด่นในงานกวีนิพนธ์ของนายอดุล จันทรศักดิ์ อยู่ที่การแสดงทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ และปฏิกิริยาทางอารมณ์ต่อปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองอย่างเฉียบแหลม คมคายด้วยลีลากลอนเฉพาะตัว ทั้งละเมียดละไมและแฝงนัยอย่างมีอารมณ์ขัน และกล่าวได้ว่า นายอดุล จันทรศักดิ์ นั้นจะสร้างสรรค์กวีนิพนธ์เพื่อสื่อสารแก่สังคมให้ผู้อ่านได้ร่วมรับรู้ ร่วมรู้สึก ร่วมคิด ทั้งคิดย้อนคิดแย้ง ทำให้เกิดพลังทางปัญญาและได้รับความสะเทือนอารมณ์อย่างลุ่มลึกไปพร้อมกัน กว่า 40 ปี ของการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีจุดยืนและอุดมการณ์อันแน่วแน่ในการรักษาความจริง ความถูกต้องและความเที่ยงธรรม พร้อมกับยืนหยัดในการปกป้องเสรีภาพทางความคิดและการกระทำ กวีนิพนธ์ของท่านนั้นจะมีความโดดเด่นในด้านพัฒนาการทางความคิด ทางอารมณ์และเปี่ยมด้วยพลังทางวรรณศิลป์ จนได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2551

ใกล้เคียง

อดุลย์ แสงสิงแก้ว อดุล อดุลเดชจรัส อดุล จันทรศักดิ์ อดุลย์ ดุลยรัตน์ อดุล วิเชียรเจริญ อดุล หละโสะ อดุลย์ วันไชยธนวงศ์ อดุลย์ เหลืองบริบูรณ์ อดุล ภูมิณรงค์ อดุลย์ ศรีโสธร

แหล่งที่มา

WikiPedia: อดุล_จันทรศักดิ์ http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-sty... http://www.egatlearning.com/2012eep/speaker_adul.h... http://www.mrthaijob.com/backoffice/contents/viewb... http://www.debsirinalumni.org/letter/DSA_04-52.pdf http://www.pra.ac.th/?page_id=441 http://www.admincourt.go.th/attach/news_attach/201... http://webhost.m-culture.go.th/culture01/cindex_1-... http://www.ocac.go.th/document/book/book_1149.pdf http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0011720... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2544/D/...