ความสำคัญ ของ อนัตตลักขณสูตร

จุดมุ่งหมายของพระสูตรนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเป็นอนัตตาของสรรพสิ่ง ให้เล็งเห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ หรือขันธ์ 5 นั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรไปเป็นธรรมดา ไม่ควรที่จะเห็นโดยสำคัญด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิว่า นั่นเป็นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นตัวตนของเรา [11]

ก่อนที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุธเจ้าจะทรงตรัสรู้ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณนั้น ชาวโลกมีทิฏฐิสุดโต่งอยู่ 2 ประการ กล่าวคือ ฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ที่เห็นว่าในปัจจุบันชาตินี้ก็มีอัตตา คือ ตัวตน เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วอัตตาคือตัวตนก็ยังไม่สิ้น ยังจะมีสืบภพชาติต่อไป มีชาติหน้าเรื่อยไปไม่มีขาดสูญ และฝ่ายอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่า มีอัตตาตัวตนอยู่แต่ในปัจจุบันชาตินี้เท่านั้น เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้วอัตตาตัวตนก็สิ้นไป ไม่มีอะไรเหลืออยู่ที่จะให้ไปเกิด ดั่งที่เห็นว่า ตายสูญ

แต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศว่า ความเห็นทั้ง 2 ฝ่ายล้วนเป็น มิจฉาทิฏฐิ คือความเห็นผิด และทรงชี้ทางที่เห็นถูกไว้ว่า ตราบใดที่ยังไม่สิ้นความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 แล้ว อาทิ ยังยึดมันว่า รูปเป็นตัวตน หรืออัตตา เวทนาเป็นอัตตา สัญญาเป็นอัตตา สังขารเป็นอัตตา และวิญญาณเป็นอัตตา ก็ยังจะมีการเกิดดับไม่รู้จักจบสิ้นในสังสารวัฏ การยึดมั่นในขันธ์ 5 นี้ เรียกว่า "ปัญจุปาทานขันธ์" [12]

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ทรงแสดงทัศนะไว้ว่า "ในสมัยพุทธกาลหรือสมัยไหน ๆ ก็คงเป็นเช่นนี้ ในปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้ และพระปัญจวัคคีย์นั้นก็ย่อมมีความยึดถืออยู่เช่นนี้อย่างมั่นคง เพราะฉะนั้น เมื่อฟังธรรมจักร ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงได้ดวงตาเห็นธรรมเพียงรูปเดียว เมื่อพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงธรรมอบรมอีก จึงได้ดวงตาเห็นธรรมจนครบทั้ง 5 รูป แต่ก็ได้เพียงดวงตาเห็นธรรม เท่ากับว่าเห็นทุกขสัจ ความจริงคือทุกข์ขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงแสดงพระสูตรที่ 2 ชี้ลักษณะของอาการทั้ง 5 เหล่านี้ว่าเป็น อนัตตา คือ ไม่ใช่ตัวตนโดยชัดเจน" [13]