ประวัติการก่อสร้าง ของ อนุสรณ์สถาน_14_ตุลา

การก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา มีประวัติอันยาวนาน เริ่มตั้งแต่มีการเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์สำหรับผู้ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์เมื่อ พ.ศ. 2517 แต่ประสบอุปสรรคนานัปการ วีรชนเดือนตุลาที่กลุ่มการเมืองแทบทุกฝ่ายยกเว้นกองทัพเห็นงามด้วยทีแรกกลับถูกตีความใหม่หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา (พ.ศ. 2519) ว่าเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย เป็นเหตุให้ไม่ได้สร้างอนุสาวรีย์ทั้งที่วางศิลาฤกษ์แล้วในเดือนตุลาคม 2518[1]:266 เริ่มมีความพยายามสร้างอนุสาวรีย์แก่วีรชนเดือนตุลา และนักศึกษา 6 ตุลาในปี 2532 แต่ล่าช้ามาเรื่อย ๆ จนสุดท้ายในปี 2541 มีการตั้งอนุสาวรีย์อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 ซึ่งศาสตราจารย์ธงชัย วนิจจะกุลแย้งว่าที่ตั้งได้ส่วนหนึ่งเพราะกันนักศึกษา 6 ตุลาไปแล้ว

ในปี 2532 รัฐบาลชาติชาย (ซึ่งตัวเขาเองสนับสนุนการเดินขบวนของฝ่ายขวาในเหตุการณ์ 6 ตุลา) ตกลงจะสร้างอนุสาวรีย์ แต่ก็ไม่ได้สร้าง ในปี 2538 แผนการสร้างอนุสาวรีย์ได้เริ่มขึ้นแล้วที่สวนสันติพร แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้สร้างถนนเลี่ยงเมืองในบริเวณนั้น ทำให้แผนต้องถูกยกเลิกไปอีก จนในปี 2541 ธีรยุทธ บุญมีอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวกับอานันท์ ปันยารชุนเจรจาทำสัญญาส่วนตัวกับผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนสุดท้ายมีการสร้างอนุสาวรีย์จนได้ แต่อุทิศให้แก่วีรชน 14 ตุลา 2516 เท่านั้น[1]:268–9

จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2544 อนุสรณ์สถานแห่งนี้จึงจะสามารถสร้างได้แล้วเสร็จ ทั้งนี้ก็ด้วยแรงผลักดันอย่างต่อเนื่องจากขบวนการนิสิตนักศึกษา อดีตนักศึกษาในสมัย 14 ตุลา นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน และประชาชนผู้รักประชาธิปไตย

งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างอนุสรณ์สถานแห่งนี้มาจากเงินบริจาคของประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และในโอกาสครบรอบ 28 ปี 14 ตุลา รวมกับเงินบริจาคของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กรุงเทพมหานคร และทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นผู้รับผิดชอบ

ใกล้เคียง

อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ อนุสรณ์ มณีเทศ อนุสรณ์ ธรรมใจ อนุสรา วันทองทักษ์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด อนุสรณ์ อมรฉัตร อนุสรณ์ ศรีชาหลวง อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เกียวโตโบราณ