ประวัติ ของ อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ

การก่อสร้าง

ศูนย์จัดแสดงสินค้าแห่งฮิโรชิมะ

โดมปรมาณูเดิมก่อสร้างเป็น ศูนย์การประชุมพาณิชยกรรมแห่งฮิโรชิมะ (ญี่ปุ่น: 広島県物産陳列館) เพื่อพัฒนาการตลาดของผลิตภัณฑ์ของเมืองฮิโรชิมะ ซึ่งเป็นเมืองที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในฐานะเมืองสงคราม เพราะเป็นที่ตั้งของศูนย์บัญชาการในสมัยสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง[3]

จังหวัดฮิโรชิมะอนุมัติการก่อสร้างใน พ.ศ. 2453 และเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2457[4] ตัวอาคารเดิมออกแบบโดยสถาปนิกชาวเช็กชื่อว่า Jan Letzel[5] สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2458 เปิดใช้งานในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2464 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์จัดแสดงสินค้าแห่งฮิโรชิมะ (ญี่ปุ่น: 広島県商品陳列所) และในปี พ.ศ. 2476 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น ศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมแห่งฮิโรชิมะ (ญี่ปุ่น: 広島県産業奨励館) ภายในศูนย์แห่งนี้มีการแสดงและวางขายสินค้าที่ผลิตในฮิโรชิมะ รวมทั้งแสดงงานศิลปะต่าง ๆ[6] แต่เมื่อสงครามเริ่มทวีความรุนแรง การแสดงสินค้าก็ลดลงจนเลิกไปเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2487[5]

ระเบิดปรมาณู

ในวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เวลา 8 นาฬิกา 15 นาที[7] ระเบิดปรมาณูลิตเติลบอยระเบิดห่างจากโดมปรมาณูทางทิศตะวันออก 150 เมตร และสูงเหนือพื้นดิน 580 เมตร[2] สันนิษฐานว่า 1 วินาทีหลังจากที่ลิตเติลบอยระเบิดอาคารก็พังทลาย แม้ว่าส่วนอาคารทั้ง 3 ชั้นจะพังทลายเกือบทั้งหมด แต่ส่วนโดมตรงกลางและกำแพงโดยรอบกลับรอดมาได้ เพราะแรงระเบิดนั้นเกิดขึ้นเหนืออาคารพอดี[8] คาดว่าเจ้าหน้าที่ประมาณ 30 คนที่อยู่ในอาคารเสียชีวิตทั้งหมด[9]

การอนุรักษ์

อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะเมื่อปี พ.ศ. 2488

การฟื้นฟูฮิโรชิมะเริ่มขึ้นจากการสร้างอาคารชั่วคราวบนพื้นดินที่ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างนั้น ซากโครงเหล็กรูปโดมของศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมก็เป็นที่เห็นเด่นชัดจนชาวเมืองพากันเรียกว่าโดมปรมาณู จนติดปาก [10]

โดมปรมาณูกลายเป็นที่รู้จักในฐานะของสัญลักษณ์ความโหดร้ายของระเบิดปรมาณู แต่ชาวเมืองกลับอยากให้ทำลายทิ้ง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้นึกถึงความโหดร้ายของการทิ้งระเบิด[11] จึงทำให้มีการถกเถียงกันว่าควรจะอนุรักษ์หรือทำลาย[4] เทศบาลเมืองฮิโรชิมะในขณะนั้นไม่เห็นด้วยกับการอนุรักษ์ด้วยสาเหตุที่ว่าการอนุรักษ์ทำให้เกิดภาระทางการเงินมาก และต้องการใช้ทรัพยากรที่จำกัดไปในการฟื้นฟูเมืองมากกว่า แต่เมื่ออิจิโร คาวาโมโตะ นักต่อสู้เพื่อสันติภาพ ได้อ่านข้อความว่า "ศูนย์ประชาสัมพันธ์เชิงอุตสาหกรรมที่น่าสงสารนั้นคงจะประกาศให้ชนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงความน่าสะพรึงกลัวของระเบิดปรมาณูตลอดไป" ในอนุทินของฮิโรโกะ คาจิยามะ เด็กสาวซึ่งเสียชีวิตใน พ.ศ. 2503 ด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว[12] เขาจึงเริ่มการรณรงค์ให้อนุรักษ์โดมประมาณูไว้[13] จนในพ.ศ. 2509 สภาเทศบาลเมืองฮิโรชิมะก็ลงความเห็นให้อนุรักษ์โดมปรมาณูไว้ตลอดไป[4][10] ในการระดมทุนสำหรับการก่อสร้างเพื่อเก็บรักษาโดมปรมาณู สามารถรวบรวมเงินจากชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศและชาวต่างชาติทั่วโลกได้ถึง 66 ล้านเยน[4][6] การซ่อมแซมครั้งแรกเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2510 และเสร็จสิ้นในวันที่ 5 สิงหาคม ในปีเดียวกัน[14]

20 ปีหลังจากการซ่อมแซมครั้งแรก เริ่มมีรอยร้าวบนกำแพงและการกัดกร่อนของโครงเหล็ก จึงต้องมีการซ่อมแซมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2532 ในครั้งนี้ได้รับเงินบริจาคถึงกว่า 395 ล้านเยน ซึ่งมากกว่าเป้าที่ตั้งไว้เกือบ 4 เท่า[15] เงินส่วนที่เหลือจากการซ่อมแซมนำมาตั้งเป็นกองทุนเพื่อการอนุรักษ์โดมปรมาณู[4] และมีการตรวจความแข็งแรงทุก ๆ 3 ปี

ขึ้นทะเบียนมรดกโลก

อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. 2539 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ตัวแทนจากจีนตั้งข้อสงสัยในการรับรองให้อนุสรณ์แห่งนี้เป็นมรดกโลก เพราะจีนเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่อนุสรณ์แห่งนี้อาจถูกนำไปใช้บิดเบือนประวัติศาสตร์เพื่อกล่าวร้ายศัตรูของญี่ปุ่น และตัวแทนจากสหรัฐอเมริกาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนอนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะเป็นมรดกโลก เพราะยังขาดมุมมองทางประวัติศาสตร์[16][2] แต่คณะกรรมการมรดกโลกก็ตัดสินให้อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะผ่านหลักเกณฑ์ทางวัฒนธรรม ข้อที่ว่า มีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ พ.ศ. 2539[17]

ใกล้เคียง

อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ อนุสรณ์ ธรรมใจ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ อนุสรณ์ มณีเทศ อนุสรา วันทองทักษ์ อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด อนุสรณ์ ศรีชาหลวง อนุสรณ์ อมรฉัตร อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เกียวโตโบราณ

แหล่งที่มา

WikiPedia: อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมะ http://stevegoestravelling.blogspot.com/2004/05/a-... http://archive.is/2N7m http://bunka.nii.ac.jp/SearchDetail.do?heritageId=... http://www.chugoku-np.co.jp/abom/2007/hiroshima_ki... http://search.japantimes.co.jp/cgi-bin/fv20070608a... http://www.yomiuri.co.jp/dy/columns/0005/lens157.h... http://www.yomiuri.co.jp/e-japan/hiroshima/kikaku/... http://www.hiroshima-spirit.jp/en/park/monu2.htm http://www.pcf.city.hiroshima.jp/top_e.html http://www.pcf.city.hiroshima.jp/virtual/VirtualMu...