บทบาทด้านการเมือง ของ อมร_อมรรัตนานนท์

นายอมร เข้ามาเกี่ยวข้องกับพรรคไทยรักไทย เมื่อมีการจัดตั้งพรรค โดยได้รับการชักชวนจากนายภูมิธรรม เวชยชัย ให้เข้าร่วมคิดร่วมสร้างพรรค หลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 ชื่อของนายอมรเข้าไปเป็นหนึ่งในคณะทำงานของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และได้รับแต่งตั้งจากนายสมศักดิ์ให้เข้ารับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการกองทุนฟื้นฟูหนี้สินเกษตรกร แต่เกิดปัญหาความขัดแย้งภายในกองทุนฯ ทำให้ต้องลาออกในระยะเวลาต่อมา และต่อมา นายอมรได้เข้าร่วมการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย

นายอมร ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคมัชฌิมาธิปไตย และลงเลือกตั้งในปลายปี พ.ศ. 2550 ในเขต 12 กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย เขตบางกอกน้อย ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา[1] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง[2]

ในปี พ.ศ. 2551 ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยปักหลักชุมนุมเพื่อขับไล่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ นายอมรซึ่งขณะนั้นยังคงใช้ชื่อว่า อมร มีบทบาทเป็นโฆษกบนเวทีคู่กับนายพิชิต ไชยมงคล และถูกหมายจับร่วมกับแกนนำและผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ อีก 9 คน ในการบุกเข้าทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 26 สิงหาคม ปีเดียวกัน รวมทั้งถูกออกหมายเรียกในข้อหาบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิในปลายปีเดียวกันด้วย[3]

ในปี พ.ศ. 2553 ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใหม่ พร้อมกับลงเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ในเขตพระนคร[4] แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง

ในปี พ.ศ. 2556–57 ได้เข้าร่วมชุมนุมกับเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) อันเป็นแนวร่วมกับกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในขณะนั้น

ในปลายปี พ.ศ. 2561 ได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และได้รับการอนุมัติให้ลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่เขต 2 จังหวัดสระบุรี ซึ่งประกอบด้วย อำเภอแก่งคอย วิหารแดง มวกเหล็ก วิหารแดง วังม่วง ในการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562[5]