ประวัติ ของ อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์

การก่อตั้ง และอัลบั้ม ซาวน์ดิงเดอะเซเวนท์ทรัมเปต (2542–2545)

อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 ที่ฮันติงตันบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สมาชิกในขณะนั้น ประกอบด้วย เอ็ม. แชโดวส์, แซกกี เวนเจนซ์, เดอะเรฟ และแมตต์ เวนดต์ โดยเอ็ม. แชโดวส์เป็นคนคิดชื่อของวงที่อ้างอิงมาจากเรื่องของเคนและอาเบล จากคัมภีร์ไบเบิล ซึ่งสามารถพบได้ในพระธรรมปฐมกาล 4:24 อย่างไรก็ตามพวกเขาก็ไม่ได้เป็นวงดนตรีทางศาสนาแต่อย่างใด[5] ในขณะก่อตั้ง สมากชิกวงแต่ละคนได้นำเอานามแฝง ซึ่งมีอยู่แล้วในชื่อเล่นของพวกเขาจากสมัยที่อยู่ในโรงเรียนมัธยม[6] ต่อมาแมตต์ เวนดต์ ได้ถูกแทนที่โดยจัสติน เซน ซึ่งเป็นมือเบสเดิมของวงสเบอร์เบินเลเจินดส์ (Suburban Legends)

ก่อนที่จะออกอัลบั้มแรกของวง อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ได้บันทึกเดโม 2 ชุดในปี พ.ศ. 2542 และ พ.ศ. 2543[7][8] ในกลางปี พ.ศ. 2544 มีรายงานว่า จัสติน เซน มือเบสของวงได้พยายามฆ่าตัวตาย [9] โดยการดื่มยาน้ำเชื่อมแก้ไอในปริมาณมาก[10] ซึ่งส่งผลกระทบให้กับงาน เทกแอกชันทัวร์ ของวง[9] ในระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล เขายังคงอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก ทำให้ถูกแทนที่โดย ดาเมียน แอช[10] อัลบั้มเปิดตัวของอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ มีชื่อว่า ซาวน์ดิงเดอะเซเวนท์ทรัมเปต บันทึกเมื่อสมาชิกทั้งหมดของวงนั้นยังอายุเพียง 18 ปีเท่านั้น และยังอยู่ในโรงเรียนมัธยม เดิมได้ออกวางขายกับสังกัด กูดไลฟ์เรเคิดดิงส์ ในปี พ.ศ. 2544[11][12] หลังจากมือกีตาร์นำ ซินนิสเตอร์ เกตส์ ได้เข้ามาร่วมกับวง ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2542 วงได้ทำการอัดเสียงเพลงอินโทรของอัลบั้ม ที่มีชื่อเพลงว่า "ทูเอนด์เดอะแรปเชอร์" (To End The Rapture) ใหม่ และออกจำหน่ายอีกครั้งโดยค่ายเพลง โฮปเลสเรเคิดส์ ในปี พ.ศ. 2545 ทำให้วงเริ่มได้รับความสนใจและออกแสดงคอนเสิร์ตร่วมกับวงอื่น เช่น มัชรูมเฮด, แชโดวส์ฟอลล์ และได้เล่นในงาน เทกแอกชันทัวร์[13][14]

อัลบั้ม เวกกิงเดอะฟอลเลน และ ซิตีออฟอีวิล (2546–2549)

หลังจากที่ได้คว้าตัวมือเบสคนใหม่ จอห์นนี คริสต์ วงก็ได้ออกสตูดิโออัลบั้มชุดที่สองชื่อว่า เวกกิงเดอะฟอลเลน โดยโฮปเลสเรเคิดส์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 อัลบั้มนี้มีการปรับแต่งและการผลิตเสียงอย่างเต็มรูปแบบมาขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับอัลบั้มที่ผ่านมา และได้รับคำชมจากนิตยสารโรลลิงสโตน รวมถึงได้ออกแสดงดนตรีในงานแวนส์วาปด์ทัวร์[15][16] ในปี พ.ศ. 2547 อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ได้ออกทัวร์อีกครั้งในงานแวนส์วาปด์ทัวร์ และบันทึกวิดีโอสำหรับเพลง "อันโฮลีคอนเฟสชันส์" ซึ่งได้ไปปรากฏในรายการเฮดแบงเกอส์บอล ของเอ็มทีวี 2[17] หลังจากที่ออกจำหน่ายอัลบั้ม เวกกิงเดอะฟอลเลน ได้ไม่นาน อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ก็ได้ออกจากค่ายโฮปเลสเรเคิดส์ และเซ็นสัญญากับวอร์เนอร์บราเธอร์สเรเคิดส์

อัลบั้ม ซิตีออฟอีวิล เป็นอัลบั้มลำดับที่ 3 ของวง และเป็นอัลบั้มแรกที่ออกจำหน่ายผ่านค่ายเพลงขนาดใหญ่ ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2548 และเปิดตัวบนชาร์ตบิลบอร์ด 200 ในอันดับที่ 30 มียอดจำหน่ายมากกว่า 30,000 ชุดภายในสัปดาห์แรกของการออกจำหน่าย[18][19] อัลบั้มนี้มีความเป็นคลาสสิกเมทัลมากขึ้น มากกว่าสตูดิโออัลบั้มสองชุดที่ผ่านมาของอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ ที่เดิมเป็นแนวเพลงเมทัลคอร์[20][21] ซึ่งเอ็ม. แชโดวส์เลือกที่จะไม่ร้องแบบตะโกนร้อง หรือคำรามเสียง เหมือนกับ 2 อัลบั้มแรกที่เคยทำในอัลบั้ม ซาวน์ดิงเดอะเซเวนท์ทรัมเปต และ เวกกิงเดอะฟอลเลน เพราะเขามีปัญหาเส้นเลือดแตกในลำคอ และต่อมาต้องเข้ารับการผ่าตัดช่วยเหลือให้ดีขึ้น เขาจึงบอกว่าจุดนี้ที่ทำให้เขาต้องเปลี่ยนการร้องเพลงของเขาเอง แต่ภายหลังแชโดวส์ก็สามารถฝึกร้องได้ดีขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้ที่เขาต้องเข้ารับการผ่าตัด และยังได้ ร็อน แอนเดอร์สัน ผู้ซึ่งเคยทำงานร่วมกับ Axl Rose และ Chris Cornell มาช่วยฝึกด้านการใช้เสียงให้ด้วย[20][22] อัลบั้มนี้ได้รับการวิจารณ์ในด้านบวกจากนิตยสารและเว็บไซต์หลายแห่ง และได้ให้แรงผลักดันให้อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์เป็นวงดนตรีที่เป็นที่นิยมในระดับสากล

หลังจากที่เล่นในงานออซเฟสต์ในปี พ.ศ. 2549 อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ได้เอาชนะนักร้องริทึมแอนด์บลูส์อย่าง ริอานนา และคริส บราวน์, Panic! at the Disco, Angels & Airwaves และเจมส์ บลันต์ สาขาศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยมในงานประกาศรางวัลเอ็มทีวีวิดีโอมิวสิกอะวอดส์ ด้วยผลงานเพลงที่มีแรงบรรดาลใจมาจากเฟียร์แอนด์โลทิงอินลาสเวกัส มีชื่อเพลงว่า "แบตคันทรี"[23] พวกเขาได้กลับมาแสดงในงานแวนส์วาปด์ทัวร์ และต่อด้วยการแสดงทัวร์ของพวกเขา "ซีตีส์ออฟอีวิลทัวร์"[24] นอกจากนี้ ซิงเกิล "แบตคันทรี" ได้เข้าสู่อันดับ 2 ในชาร์ตเมนสตรีมร็อก และอันดับ 6 ในชาร์ตโมเดิร์นร็อกของบิลบอร์ด และวิดีโอของเพลงนี้ทำให้ติดอันดับ 1 ในรายการโททอลรีเควสต์ไลฟ์ของเอ็มทีวี[25] อัลบั้มนี้มียอดจำหน่ายที่ดี และเป็นผลงานแรกของอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ที่ได้รับรางวัลระดับทองคำ[26] และได้รับรางวัลระดับทองคำขาวต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552

อัลบั้ม อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ และการเสียชีวิตของ "เดอะเรฟ" (2550–2552)

อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ได้รับเชิญให้มาเข้าร่วมงานออซเฟสต์บนเวทีหลัก ร่วมด้วยศิลปินร็อกและเฮฟวีเมทัลที่เป็นที่รู้จัก เช่น ดรากอนฟอร์ซ, Lacuna Coil, เฮตบรีด, Disturbed และซิสเตมออฟอะดาวน์ เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2549[27] ในปีเดียวกันนั้นพวกเขาก็ยังได้สำเร็จการทัวร์ทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร (ตลอดจนทั่วทั้งยุโรป), ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หลักจากการโปรโมตอัลบั้ม ซิตีออฟอีวิล ได้มีการยกเลิกทัวร์ Fall 2006 เพื่อที่จะบันทึกอัลบั้มใหม่[28] ในระหว่างนั้น ทางวงได้ออกจำหน่ายดีวีดีชุดแรก มีชื่อว่า ออลเอ็กเซส เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2550[29] ออลเอ็กเซส ซึ่งเปิดตัวด้วยอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา ในดีวีดีมีการแสดงสดและรวมภาพหลังเวทีที่ผ่านมา 8 ปีของวง นอกจากนี้ ได้มีอัลบั้มที่จัดทำขึ้นเพื่อยกย่องวง ได้แก่ Strung Out on Avenged Sevenfold: Bat Wings and Broken Strings และ Strung Out on Avenged Sevenfold: The String Tribute ซึ่งออกจำหน่ายเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2550

ในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2550 อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ได้ออกอัลบั้มที่มีชื่อเดียวกันกับวง เป็นสตูดิโออัลบั้มชุดที่ 4 ของวง เข้าสู่อันดับที่ 4 ในชาร์ตบิลบอร์ด 200 ด้วยยอดขาย 90,000 แผ่น[30] สองซิงเกิล ได้แก่ "คริทิคัลอักเคลม" และ "ออลโมสต์อีซี" ได้ออกมาก่อนที่จะมีการออกอัลบั้ม ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2550 ได้มีมิวสิกวิดีโอที่เป็นแอนิเมชันของเพลง "อะลิตเติลพีซออฟเฮฟเวน" ซิงเกิลที่สาม "แอฟเตอร์ไลฟ์" และออกมิวสิกวิดีโอเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2551 ซิงเกิลที่สี่ "เดียร์ก็อด" ออกเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2551 อัลบั้มนี้มียอดขายรวม 500,000 แผ่น รวมถึงได้รางวัล "อัลบั้มแห่งปี" ของเคอร์แรง[31]

ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2552 มือกลองของวง เจมส์ "เดอะเรฟ" ซัลลิแวน ถูกพบว่าเสียชีวิตที่บ้านของเขาขณะอายุ 28 ปี[32]

อัลบั้ม ไนต์แมร์ (2553–2554)

สมาชิกของวงได้ยอมรับในหลาย ๆ การสัมภาษณ์ว่าวงอาจจะต้องหยุดลงในเวลานี้[33][34] อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ได้กล่าวว่าพวกเขาจะเข้าสู่สตูดิโอ ด้วยสมาชิกคนใหม่ ไมค์ พอร์ตนอย ซึ่งเป็นมือกลองจากวงดรีมเทียเตอร์ ที่จะมาทำหน้าที่เป็นมือกลองให้กับวงอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ แทนเดอะเรฟ[35]

ซิงเกิล "ไนต์แมร์" ออกจำหน่ายในรูปแบบดิจิตอลดาวน์โหลดในวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553[36][37] ก่อนหน้านี้ ตัวอย่างของเพลงได้ออกในวันที่ 6 พฤษภาคม ในเว็บไซต์ Amazon.com แต่ได้ถูกลบออกในเวลาต่อมา[37] อัลบั้มได้ทำการรวมเพลงเสร็จสมบูรณ์ในนครนิวยอร์ก และออกจำหน่ายสตูดิโออัลบั้มชุดที่ห้าของวง ไนต์แมร์ ทั่วโลกในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2553[38] ในวันที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2554 อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ได้ประกาศในเฟซบุ๊กว่า แอริน อิเลไฮ อดีตมือกลองจากวงคอนไฟด์ จะเริ่มออกทัวร์กับอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ แต่เขาก็ยังไม่ได้ถือว่าเป็นสมาชิกของวงอย่างเต็มรูปแบบในเวลานั้น[39][40]

อัลบั้ม เฮลทูเดอะคิง (2555–2557)

แอริน อิเลไฮ ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการว่าตนเป็นสมาชิกวงอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์อย่างเต็มรูปแบบ และรับหน้าที่แทนเดอะเรฟ เอ็ม. แชโดวส์ บอกว่าอัลบั้มนี้มีแนวเพลงที่มีอิทธิพลจากบลูส์ร็อกมากยิ่งขึ้น และคล้ายกับคลาสสิกร็อกหรือเมทัล เหมือนกับวงแบล็กแซ็บบาธ และวงเลด เซพเพลิน[41]

อัลบั้มนี้มีชื่อว่า เฮลทูเดอะคิง ออกจำหน่ายในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556[42] เป็นอัลบั้มแรกของอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ที่ไม่มีเดอะเรฟเป็นส่วนร่วมในการบันทึก ซิงเกิลแรกจากอัลบั้มออกจำหน่ายในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เฮลทูเดอะคิงได้ติดอันดับ 1 ในชาร์ตบิลบอร์ด 200 ในสหรัฐอเมริกา และชาร์ตอัลบั้มเพลงสหราชอาณาจักร ตลอดจนชาร์ตในประเทศฟินแลนด์ บราซิล แคนาดา และไอร์แลนด์

อัลบั้ม เดอะสเตจ (2558–ปัจจุบัน)

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 เอ็ม. แชโดวส์ ได้ยืนยันว่าวงจะเริ่มทำผลงานอัลบั้มชุดที่เจ็ดในช่วงหน้าร้อนกลางปี พ.ศ. 2558 และมีคาดว่าจะมีกำหนดการออกอัลบั้มในปี พ.ศ. 2559[43] เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 ทางเว็บไซต์ของอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ได้ประกาศว่าพวกเขาได้แยกทางกับมือกลอง แอริน อิเลไฮแล้ว [44]

ในวันที่ 29 คุลาคม พ.ศ. 2558 ทางวงได้เปิดว่ากำลังทำเพลงชื่อว่า “Jade Helm” ซึ่งเป็นเพลงบรรเลงเพื่อใช้เป็นซาวด์แทร็กให้กับโหมดมัลติเพลย์เยอร์ของเกม Call of Duty: Black Ops III ที่กำลังจะวางจำหน่ายในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 นี้ด้วย [45]

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ทางวงประกาศว่าบรุกส์ แวกเกอร์แมน จะเข้ามาแทนที่แอริน อิเลไฮ ในฐานะมือกลองของวงอะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ [46]

ใกล้เคียง

อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ (อัลบั้ม) อะเล็กซานเดรีย อะเวิลด์ทูบีลีฟอิน อะเล็ช บิดัล อะเล็กซานเดอร์มหาราช อะเวก (อัลบั้มจิระศักดิ์ ปานพุ่ม) อะเล็กโต แคร์โรว์ อะเล็กซานเดอร์ กราแฮม เบลล์ อะเว

แหล่งที่มา

WikiPedia: อะเว็นจด์เซเวนโฟลด์ http://www.accessmylibrary.com/coms2/summary_0286-... http://www.allmusic.com/artist/avenged-sevenfold-m... http://www.altpress.com/news/entry/avenged_sevenfo... http://music.aol.com/album/sounding-the-seventh-tr... http://avengedsevenfold.com http://www.avengedsevenfold.com http://www.avengedsevenfold.com/content/metal-hamm... http://www.avengedsevenfold.com/news/a7x-enters-st... http://www.avengedsevenfold.com/news/moving-forwar... http://www.avengedsevenfold.com/shows