อักษรตัวต้นประดิษฐ์
อักษรตัวต้นประดิษฐ์

อักษรตัวต้นประดิษฐ์

บทความนี้ใช้ระบบคริสต์ศักราช เพราะอ้างอิงคริสต์ศักราชและคริสต์ศตวรรษ หรืออย่างใดอย่างหนึ่งอักษรตัวต้นประดิษฐ์[1] (อังกฤษ: Historiated initial หรือ Inhabited initial) เป็นอักษรตัวแรกของย่อหน้าหรือบางส่วนของบทเขียนที่มีขนาดใหญ่กว่าอักษรตัวที่ตามมาที่จะประกอบด้วยภาพตกแต่ง ส่วนความหมายที่เฉพาะเจาะจงของ “อักษรตัวต้นตกแต่ง” (อังกฤษ: Inhabited initial) ที่ตกแต่งด้วยรูปลักษณ์ของคนหรือสัตว์จะใช้ในการตกแต่งเท่านั้นโดยไม่มีเนื้อหาเช่น “อักษรตัวต้นประดิษฐ์” อักษรดังกล่าวพบเป็นครั้งแรกในศิลปะเกาะเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 8[2] ตัวอย่างของงานแรกที่ใช้อักษรตัวต้นประดิษฐ์พบใน “หนังสือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กบีด” ซึ่งเป็นหนังสือต้นฉบับศิลปะเกาะที่เขียนขึ้นระหว่างราวปี ค.ศ. 731 ถึงปี ค.ศ. 746อักษรตัวต้นที่นิยมเขียนกันจะเป็น “สีแดงและน้ำเงิน โดยสีทั้งสองจะแผ่ออกไปตกแต่งถึงขอบหนังสือ โดยการเขียนด้วยปากกาและตกแต่งอย่างวิจิตรตามธรรมเนียมนิยมของสมัย”[3] นอกจากนั้นขนาดและการตกแต่งก็ยังเป็นเครื่องแสดงความสำคัญและสถานที่ที่สร้างหนังสืออีกด้วย อักษรตัวต้นที่เริ่มตอนใหม่ของหนังสือ โดยเฉพาะตอนสำคัญอาจจะใช้เนื้อที่มากกว่าปกติและตกแต่งด้วยความบรรจงกว่าปกติ ในหนังสือที่หรูหราก็อาจจะตกแต่งด้วยอักษรตัวต้นประดิษฐ์ทั้งหน้าก็ได้[4] ทั้งขนาดและความอลังการของหนังสือสะท้อนให้เห็นถึงฐานะของหนังสือเองและผู้เป็นเจ้าของ หนังสือที่สำหรับใช้ประจำวัน หรือใช้โดยนักบวช หรือใช้โดยนักศึกษาของมหาวิทยาลัยมักจะมีการตกแต่งเพียงเล็กน้อย และแทบจะไม่มีการใช้อักษรตัวต้นประดิษฐ์ แต่ถ้าเป็นหนังสือที่ได้รับการสั่งให้ทำโดยผู้จ้างผู้มีฐานะดี หรือสำหรับสำนักสงฆ์สำคัญ ก็จะได้รับการตกแต่งอย่างหรูหราด้วยภาพที่เขียนประดับด้วยทองหรือเงิน วัสดุที่ใช้ในการเขียนภาพก็แตกต่างกันออกไป บางครั้งก็จะเป็นเพียงการตกแต่งด้วยทองหรือเงินเท่านั้น แต่บางครั้งก็จะเพิ่มเติมด้วยวัสดุที่หายากเช่นสีน้ำเงินจากหินลาพิส ลาซูไล หรือสีม่วง หนังสือที่ตกแต่งด้วยวัสดุดังกล่าวมักจะเป็นของผู้เป็นนักสะสมหรือขุนนาง แต่ถ้าแต่งด้วยสีแดง, ดำ หรือหมึกสีน้ำเงินก็จะเป็นหนังสือที่ใช้กันโดยทั่วไป