ลักษณะทั่วไป ของ อักษรสระประกอบ

โดยทั่วไปแล้ว อักษรสระประกอบจะประกอบด้วยพยัญชนะเป็นหลัก ซึ่งพยัญชนะแต่ละตัวจะกำหนดเสียงสระไว้อยู่แล้วโดยไม่ต้องมีรูปสระใด ๆ มากำกับ (ในอักษรไทย พยัญชนะจะออกเสียง อะ หรือ ออ เช่นในคำว่า บ่ หรือ ณ) ส่วนใหญ่จะเขียนจากซ้ายไปขวา สระจะกำหนดโดยการดัดแปลงพยัญชนะด้วยการเติมเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ (อย่างในอักษรตระกูลพราหมี) โดยสระอาจจะอยู่ในตำแหน่งใด ๆ ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องตามหลังพยัญชนะเสมอไป หรือพยัญชนะอาจจะเปลี่ยนรูปร่างไปเพื่อแสดงเสียงสระที่แตกต่างกัน (อย่างในอักษรของชนพื้นเมืองของแคนาดา)

สระที่ไม่มีเสียงพยัญชนะนำหน้าอาจประกฎคู่กับพยัญชนะพิเศษ (เช่น ในอักษรไทย) หรือปรากฏเป็นรูปสระลอย ซึ่งเป็นรูปพิเศษของสระแต่ละเสียงที่สามารถอยู่ได้ตามลำพังโดยไม่ต้องกำกับกับพยัญชนะ สระลอยยังคงมีใช้อยู่ในอักษรหลายประเภทในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่อักษรไทยนั้นเหลือเพียง ฤๅ ฦๅ เท่านั้น

อักษรสระประกอบแบ่งได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ

  • ตระกูลอักษรพราหมี เป็นกลุ่มที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด สระจะแสดงโดยเติมเครื่องหมายต่าง ๆ ลงไปที่ด้านหน้า หลัง บน ล่าง หรือรอบ ๆ พยัญชนะ และมีเครื่องหมายที่แสดงว่าพยัญชนะไหนเป็นตัวสะกดหรือไม่มีเสียงสระกำกับ (ดังเช่นพินทุในอักษรไทยที่ใช้เขียนภาษาบาลี)
  • ตระกูลอักษรเอธิโอเปีย สระจะแสดงโดยการดัดแปลงลักษณะของพยัญชนะเพื่อแสดงเสียงสระต่าง ๆและรวมถึงพยัญชนะที่ไม่มีเสียงสระกำกับด้วย
  • ตระกูลอักษรครี สระจะแสดงโดยการหมุนพยัญชนะให้ตะแคงเป็นมุมที่แตกต่างกันเพื่อแสดงเสียงสระที่แตกต่างกัน (เช่น ᒪ มา ᒥ มี) พยัญชนะที่ไม่มีสระกำกับจะแสดงด้วยการเติมเครื่องหมายหรือมีรูปอักษรพอเศษสำหรับพยัญชนะนั้น ๆ

อักษรทานะซึ่งใช้เขียนภาษามัลดีฟส์ของมัลดีฟส์ไม่มีรูปสระลอย มีเพียงรูปสระจมกับพยัญชนะพิเศษอย่าง อ ในอักษรไทยเท่านั้น