ที่มา ของ อังกฤษสมัยแองโกล-แซกซัน

ที่มาของแองโกล-แซกซันมีด้วยกันต่าง ๆ ทั้งหลักฐานทางเอกสารและทางตำนาน แต่หลักฐานทางเอกสารที่สำคัญมีด้วยกันสี่ฉบับ ๆ แรกมาจากบันทึก "การล่มสลายและการพิชิตบริเตน" (De Excidio et Conquestu Britanniae) โดยนักบุญกิลดาส์ ที่เขียนราวค.ศ. 540 เป็นบันทึกที่หนักไปในทางการวิจารณ์กษัตริย์บริติชมากกว่าที่จะบรรยายเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ เอกสารฉบับที่สอง "ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ" เขียนโดยนักบุญบีด ราว ค.ศ. 731 ใช้บันทึกของกิลดาส์เป็นพื้นฐานและก็อ้างอิงหลักฐานอื่นด้วย ฉบับที่สาม "ประวัติศาสตร์อังกฤษ" ที่กล่าวกันว่าเขียนโดยนักประพันธ์ชื่อเน็นเนียสที่อาจจะเขียนราว ค.ศ. 800 เน็นเนียสก็เช่นเดียวกับกิลดาส์บรรยายเหตุการณ์จากมุมมองของบริติช ฉบับสุดท้ายคือ "บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน" ที่บางส่วนมีพื้นฐานมาจากงานของบีดแต่ก็ผสมตำนานเกี่ยวกับการก่อตั้งราชอาณาจักรเวสเซ็กซ์ แต่ที่สำคัญที่สุดในบรรดาเอกสารสี่ฉบับก็คือ "ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับศาสนาของชนอังกฤษ" ของบีด และ "บันทึกเหตุการณ์ของชาวแองโกล-แซกซัน"

หลักฐานอื่น ๆ ก็ใช้ประกอบหลักฐานทางเอกสาร เช่นหลักฐานการตั้งถิ่นฐานทางโบราณคดีที่เห็นได้จากประเพณีการฝังศพและการใช้ที่ดิน จากการวิจัยซากศพที่พบไม่ไกลจากแอ็บบิงดันอ้างว่าชาวแซกซันตั้งถิ่นฐานอยู่ด้วยกันกับชาวบริเตน ซึ่งเป็นปัญหาในการถกเถียงกันทางด้านการศึกษาว่าการตั้งถิ่นฐานของชาวแซกซันเป็นการตั้งถิ่นฐานแบบแทนที่ หรือเป็นการเข้ามาผสมกับผู้คนชาวโรมัน-บริเตนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่แต่เดิมในบริเวณทางใต้และตะวันออกของบริเตน ดาร์ก ("บริเตนและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน" ค.ศ. 2002) และเลย์ค็อก ("รัฐบริทาเนียล่ม" ค.ศ. 2008) ต่างก็ถกกันในหัวข้อนี้และวิจัยจากหลักฐานสนับสนุนต่าง ๆ

หลักฐานอื่นก็มีกฎหมายแองโกล-แซกซันต่าง ๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่ตั้นแต่รัชสมัยของเอเธสเบิร์ตแห่งเคนต์ (Æthelberht of Kent) และไอเนแห่งเวสเซ็กซ์ (Ine of Wessex) และเพิ่มจำนวนขึ้นมากมายหลังจากรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าอัลเฟรดมหาราช กฎบัตรแองโกล-แซกซัน (Anglo-Saxon Charters) ที่ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการมอบที่ดินใช้เป็นหลักฐานได้ตลอดสมัย หลักฐานการเขียนอื่น ๆ ก็รวมทั้งวรรณกรรมนักบุญ, จดหมาย (มักจะเป็นการติดต่อระหว่างนักบวชและบางครั้งผู้นำทางการเมืองเช่นชาร์เลอมาญ และออฟฟาแห่งเมอร์เซีย) และกวีนิพนธ์แองโกล-แซกซัน

ในช่วงสิบปีที่แล้วก็ได้มีการศึกษาทางพันธกรรมของชาวอังกฤษในสมัยปัจจุบันที่นำไปใช้ในการสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับประชากรในสมัยแองโกล-แซกซันและจำนวนผู้เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 สรุปกันว่าการมาตั้งถิ่นฐานเป็นการตั้งถิ่นฐานของชนกลุ่มใหญ่ แต่เมื่อไม่นานมานี้เชื่อกันว่าเป็นการมาตั้งถิ่นฐานของชนชั้นผู้นำจำนวนไม่มากนักที่สนับสนุนจากการศึกษาโดยการวิจัยดีเอ็นเอ

ใกล้เคียง

อังกฤษในสมัยกลางยุครุ่งโรจน์ อังกฤษสมัยแองโกล-แซกซัน อังกฤษสมัยแองโกล-นอร์มัน อังกฤษ อังกฤษ (แก้ความกำกวม) อังกฤษอเมริกัน อังกฤษสมัยสจวต อังกฤษดั้งเดิม อังกฤษก่อนประวัติศาสตร์ อังกฤษอิงแลนด์