โครงสร้าง ของ อัณฑะ

อัณฑะ เป็นอวัยวะที่เคลื่อนไหวได้อยู่ในถุงอัณฑะ มีลักษณะเป็นรูปไข่ขนาดประมาณ 4x2 5x2 เซนติเมตร หนัก 10-15 กรัม ปกติอัณฑะทางด้านซ้ายจะอยู่ต่ำกว่าทางด้านขวาประมาณ 1 เซนติเมตร ในตัวอ่อนอัณฑะจะวางตัวอยู่ในช่องท้องใกล้กับไต เมื่อตัวอ่อนอายุได้ 7 เดือนอัณฑะจะเคลื่อนผ่านช่องขาหนีบ ซึ่งเป็นช่องทางเชื่อมระหว่างถุงอัณฑะกับช่องท้อง แล้วเข้าไปอยู่ในถุงอัณฑะพร้อมทั้งนำเอาหลอดเลือด เส้นประสาทและท่อนำอสุจิ ที่ออกจากอัณฑะตามลงไปด้วยกลายเป็นสายโยงลูกอัณฑะ การออกแรงยกของหนักหรือมีความดันในช่องท้องสูงอาจทำให้ท่อขาหนีบขยายเปิดกว้างออก อวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในช่องท้องสามารถเคลื่อนผ่านรูนี้ออกมาดันอยู่ในถุงอัณฑะ เรียกว่า ไส้เลื่อน (inguinal hernia) และถ้าหากอัณฑะยังไม่สามารถเคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ เรียกสภาพนี้ว่า ทองแดง ซึ่งจะมีผลทำให้ไม่สามารถสร้างอสุจิได้

อัณฑะ ถูกหุ้มด้วยเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดแน่นทึบที่เรียกว่า tunica albuginea ซึ่งจะให้ผนังแทรกเข้าไปภายในแบ่งอัณฑะออกเป็น ท่อเล็ก ๆ ประมาณ 200-300 ท่อภายในแต่ละท่อประกอบด้วยเซลล์เลย์ดิก และ ท่อเซมินิเฟอรัส ซึ่งจะขดไปรวมความยาวทั้งหมดของท่อเซมินิเฟอรัสแล้วประมาณ 225 เมตร ท่อเซมินิเฟอรัส แต่ละหลอดมาบรรจบกันเป็นท่อตรงแล้วประสานกันเป็นตาข่ายเรียกว่า rete testis ต่อจากนั้น rete testis ก็จะรวมกันกลายเป็น ductuli efferents ทะลุ tunica albuginea เชื่อมต่อกับส่วนต้นของหลอดเก็บอสุจิ