ลำดับเหตุการณ์ตามบันทึก ของ อันเนอ_ฟรังค์

ก่อนการซ่อนตัว

ลายมือของอันเนอ ฟรังค์ แปลได้ว่า "นี่คือรูปของฉันที่ฉันอธิษฐานให้ตัวฉันเป็นอย่างนี้ตลอดไป และหวังว่าจะได้มีโอกาสไปฮอลลีวุดกับเขาบ้าง" ลงชื่อ อันเนอ ฟรังค์ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2485

ในวันเกิดปีที่สิบสามของอันเนอ เมื่อ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เธอได้รับของขวัญจากพ่อเป็นหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเธอแสดงความประสงค์ต่อบิดาเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ มันเป็นสมุดวาดเขียนเปล่า ปกเป็นผ้าสีแดง-เขียว ผูกเงื่อนเล็ก ๆ ไว้ด้านหน้า อันเนอตัดสินใจว่าเธอจะใช้หนังสือนี้เป็นสมุดบันทึก[2] และเริ่มต้นเขียนลงในสมุดนับแต่บัดนั้น เนื้อหาในช่วงต้น ๆ โดยมากเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วไปในชีวิตของเธอ แต่เธอก็ได้บันทึกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์หลังจากเยอรมนีเข้าครอบครองไว้ด้วย ในบันทึกของเธอที่ลงวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2485 เธอได้บันทึกรายการข้อห้ามต่าง ๆ ที่บังคับใช้กับพลเมืองชาวดัตช์ที่เป็นยิว และได้บันทึกความเศร้าโศกในการเสียชีวิตของยายของเธอเมื่อช่วงต้นปีนั้น[4] อันเนอใฝ่ฝันจะได้เป็นนักแสดง เธอชอบดูภาพยนตร์ แต่ชาวดัตช์เชื้อสายยิวถูกห้ามเข้าโรงภาพยนตร์ตั้งแต่ 8 มกราคม พ.ศ. 2484[1]

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2485 มาร์กอท ฟรังค์ ได้รับจดหมายเรียกให้ไปรายงานตัวยังศูนย์กลางชาวยิวอพยพ เพื่อให้ย้ายที่อยู่ไปยังค่ายทำงาน ก่อนหน้านี้พ่อของอันเนอบอกเธอว่าครอบครัวจะต้องขึ้นไปซ่อนตัวอยู่บนห้องใต้หลังคาของที่ทำการบริษัทบนถนนปรินเซินครัคต์ (Prinsengracht) ที่ซึ่งพนักงานของออทโทที่เชื่อถือได้จำนวนหนึ่งจะให้การช่วยเหลือพวกเขา จดหมายเรียกตัวทำให้พวกเขาต้องรีบเร่งการซ่อนตัวเร็วกว่าที่คาดไว้หลายสัปดาห์[1]

ชีวิตใน อัคเตอร์เฮอวส์

เช้าวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2485[1] ครอบครัวฟรังค์ได้ย้ายไปยังที่หลบซ่อนตัว ห้องพักอาศัยเดิมของพวกเขาถูกทิ้งไว้ในสภาพยุ่งเหยิง ให้ดูเหมือนว่าพวกเขารีบเร่งจากไปในทันที ออทโท ฟรังค์ ทิ้งข้อความไว้ฉบับหนึ่งบอกเป็นนัยว่าพวกเขาได้เดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์แล้ว พวกเขาจำเป็นต้องทิ้งโมร์เจอ (แมวของอันเนอ) เอาไว้เนื่องจากจำเป็นต้องรักษาความลับ พวกยิวไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้รถขนส่งสาธารณะ ดังนั้นพวกเขาจึงต้องเดินจากบ้านเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร แต่ละคนสวมเสื้อผ้าซ้อนกันหลายชั้นเพราะพวกเขาไม่กล้าถือกระเป๋าเดินทางไปด้วย ที่ซ่อนของพวกเขาคือ อัคเตอร์เฮอวส์ [Achterhuis; เป็นคำภาษาดัตช์ หมายถึงพื้นที่ส่วนด้านหลังของบ้าน ฉบับแปลภาษาอังกฤษเรียกที่ซ่อนนี้ว่า "ห้องลับ" (Secret Annexe)] เป็นพื้นที่ว่างสามชั้น เข้าได้จากชั้นพื้นดินของสำนักงานบริษัทโอเพคทา ภายในมีห้องเล็ก ๆ สองห้องบนชั้นที่หนึ่ง มีห้องอาบน้ำและห้องส้วมในตัว ชั้นบนเป็นห้องโล่งที่ใหญ่กว่า และมีห้องเล็ก ๆ ห้องหนึ่งอยู่ด้านข้าง จากห้องเล็ก ๆ นี้มีบันไดทอดออกไปยังห้องใต้หลังคา ในเวลาต่อมาประตูทางเข้า อัคเตอร์เฮอวส์ ถูกบังไว้ด้วยตู้หนังสือ เพื่อให้แน่ใจว่ามันจะไม่ถูกค้นพบ ส่วนตัวอาคารหลักตั้งอยู่ห่างจากโบสถ์แว็สเตอร์แกร์ก (Westerkerk) หนึ่งบล็อก ไม่มีการบรรยายถึง

บ้านที่ปรินเซินครัคต์ กรุงอัมสเตอร์ดัม ที่ซ่อนตัวของครอบครัวฟรังค์

วิคทอร์ คูเกลอร์, โยฮันเนิส ไกลมัน, มีป คีส และแบ็ป โฟสเกยล์ เป็นบรรดาพนักงานที่ล่วงรู้ว่าครอบครัวฟรังค์หลบอยู่ที่นั่น ยัน คีส สามีของมีป และโยฮันเนิส แฮ็นดริก พ่อของโฟสเกยล์ เป็น "ผู้ให้ความช่วยเหลือ" ตลอดช่วงเวลาที่ครอบครัวฟรังค์ซ่อนตัว พวกเขานำข่าวจากนอกบ้านมาแจ้งให้ คอยรายงานสถานการณ์สงครามและการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จัดเตรียมสิ่งของจำเป็นในชีวิตประจำวัน ให้แน่ใจว่าครอบครัวฟรังค์สามารถอยู่ได้อย่างปลอดภัยและมีอาหารเพียงพอ ซึ่งนับวันจะยิ่งเสาะหาอาหารได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ อันเนอเขียนถึงความเสียสละและความพยายามของพวกเขาที่พยายามจรรโลงจิตใจของคนในบ้านตลอดช่วงระยะเวลาอันแสนอันตรายนั้น ทุกคนต่างตระหนักดีว่า หากถูกจับได้ พวกเขาจะต้องโทษถึงประหารฐานให้ที่พักพิงแก่ชาวยิว[2]

วันที่ 13 กรกฎาคม ครอบครัวฟัน แป็ลส์ ได้มาอาศัยร่วมกับครอบครัวฟรังค์ ได้แก่ แฮร์มันน์, เอากุสต์ และเปเตอร์ ลูกชายอายุ 16 ปี เมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนพวกเขาก็ได้ต้อนรับฟริทซ์ พเฟฟเฟอร์ ทันตแพทย์และเพื่อนของครอบครัว อันเนอบันทึกว่าเธอดีใจที่มีเพื่อนคุยด้วย แต่การมีคนจำนวนมากอยู่ร่วมกันในที่แคบ ๆ ทำให้เกิดความเครียด อันเนอใช้ห้องร่วมกับพเฟฟเฟอร์ เธอไม่สามารถทนเขาได้และรำคาญที่ต้องรับเขามาอยู่ด้วย เธอยังทะเลาะกับพเฟฟเฟอร์ซึ่งเธอให้ความเห็นว่าโง่เง่า เธอระบุว่าเขาเป็นคนเห็นแก่ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องปริมาณอาหารที่ได้รับแบ่งปัน[2] ในเวลาต่อมา เธอเริ่มญาติดีกับเปเตอร์ผู้ขี้อายและเชื่องช้า แล้วทั้งสองก็เริ่มตกหลุมรักกัน อันเนอได้จูบเขาเป็นครั้งแรก ทว่าความรู้สึกหลงใหลดูดดื่มของอันเนอค่อย ๆ เจือจางลง เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่าความรู้สึกของเธอต่อเปเตอร์นั้นจริงแท้แค่ไหน หรือเป็นเพียงเพราะพวกเขาได้อยู่ร่วมในที่แห่งเดียวกันเท่านั้น อันเนอ ฟรังค์ สนิทสนมกับบรรดาผู้ให้ความช่วยเหลือพวกเขามาก ออทโท ฟรังค์ รำลึกเรื่องนี้ในภายหลังว่า เธอตื่นเต้นกระตือรือร้นที่จะได้พบพวกเขาทุก ๆ วัน เขายังสังเกตว่าเพื่อนสนิทที่สุดของอันเนอคือ แบ็ป โฟสเกยล์ "เลขานุการสาวผู้นั้น... พวกเธอทั้งสองมักยืนกระซิบกระซาบกันอยู่ตรงมุมห้อง"[2]

ในบันทึกของอันเนอ เธอบรรยายความสัมพันธ์ระหว่างตัวเธอกับสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ และความแตกต่างในบุคลิกภาพของพวกเขาทั้งหลาย เธอเห็นว่าตัวเองมีความรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อมากกว่าคนอื่น ๆ พ่อของเธอบอกภายหลังว่า "ผมเข้ากับอันเนอได้ดีกว่ามาร์กอทซึ่งมักจะติดแม่แจ อาจเป็นเพราะมาร์กอทไม่ค่อยแสดงความรู้สึกของเธอออกมาเท่าไรนัก และดูเหมือนไม่ต้องการการสนับสนุนมากนัก เธอไม่ค่อยหัวเสียกับอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาเหมือนอย่างที่อันเนอเป็น"[1] หลังจากมาซ่อนตัว อันเนอกับมาร์กอทก็สนิทกันยิ่งขึ้นกว่าเดิม แม้บางครั้งอันเนอจะรู้สึกอิจฉามาร์กอท เพราะสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านมักตำหนิเธอว่าไม่มีความอ่อนโยนสุภาพเหมือนอย่างพี่สาว แต่เมื่ออันเนอเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สองสาวพี่น้องก็เข้ากันได้ดี ในบันทึกของเธอวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2487 อันเนอเขียนว่า "มาร์กอทดีขึ้นมาก พักหลังนี้เธอไม่ทำตัวเป็นแมวหง่าว และเริ่มเป็นเพื่อนจริง ๆ สักที เธอไม่มองฉันเป็นเด็กทารกอีกแล้ว"[4]

อันเนอเขียนเรื่องความขัดแย้งกับแม่เอาไว้บ่อย ๆ รวมถึงความขัดแย้งในใจของเธอเองเกี่ยวกับแม่ด้วย วันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 เธอบรรยายถึง "ความเสื่อมศรัทธา" ที่มีต่อแม่ ทั้งยังไม่สามารถ "ประจันหน้ากับความสะเพร่า เย็นชา และหัวใจที่แข็งกระด้าง" ของแม่เธอได้ ก่อนจะสรุปว่า "เขาไม่ใช่แม่สำหรับฉัน"[4] ต่อมาเมื่อเธอทบทวนสมุดบันทึกของตัวเอง อันเนอรู้สึกละอายกับทัศนคติแย่ ๆ ของตัวเอง เธอบันทึกว่า "อันเนอ นั่นเธอหรือที่จงเกลียดจงชังขนาดนั้น โอ อันเนอ เธอทำได้อย่างไร?"[4] อันเนอเริ่มเข้าใจว่า ความแตกต่างของพวกเขาเป็นผลมาจากความไม่เข้าใจกัน เป็นความผิดของเธอมากเท่า ๆ กับความผิดของแม่ อันเนอยังเห็นว่าเธอได้เพิ่มความทุกข์ใจให้แก่แม่อย่างไม่จำเป็นเลย เมื่อตระหนักดังนี้ อันเนอก็เริ่มปฏิบัติต่อมารดาด้วยความเคารพมากยิ่งขึ้น[1]

ทั้งมาร์กอทและอันเนอต่างหวังจะได้กลับไปโรงเรียนอีกครั้งทันทีที่ไปได้ เพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนต่อ มาร์กอทมีสมุดบันทึกส่วนตัวของเธอเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าสูญหายไป อันเนอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านและเล่าเรียน โดยยังเขียนและแก้ไขบันทึกของเธออยู่อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนอกเหนือจากการบรรยายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่พวกเขาประสบแล้ว เธอยังบรรยายถึงความรู้สึกของเธอ ความเชื่อ ความปรารถนา และเรื่องต่าง ๆ ที่เธอไม่กล้าปรึกษาหารือกับใคร เมื่อเธอมีความมั่นใจในการเขียนหนังสือมากขึ้น เธอก็เริ่มบรรยายถึงเรื่องราวเชิงนามธรรม เช่นความเชื่อของเธอต่อพระผู้เป็นเจ้า และเรื่องการจำกัดความธรรมชาติของมนุษย์ เธอเขียนบันทึกอย่างสม่ำเสมอทุกวันจนกระทั่งถึงบันทึกครั้งสุดท้ายในวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487

ถูกจับกุม

ค่ายที่สร้างขึ้นใหม่บนที่ตั้งของค่ายแว็สเตอร์บอร์ก ซึ่งอันเนอ ฟรังค์ พำนักอยู่ระหว่างสิงหาคม-กันยายน พ.ศ. 2487

เช้าวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2487 อัคเตอร์เฮอวส์ ถูกบุกค้นโดยตำรวจเยอรมนี (Grüne Polizei) เนื่องจากมีผู้แจ้งเบาะแสนิรนาม[5] ทีมจับกุมนำโดยคาร์ล ซิลเบอร์เบาเออร์ นายตำรวจซีแชร์ไฮท์สดีนสท์ (Sicherheitsdienst) พร้อมทั้งตำรวจอีกอย่างน้อย 3 นาย ครอบครัวฟรังค์ ครอบครัวฟัน แป็ลส์ และพเฟฟเฟอร์ ถูกนำตัวไปยังสำนักงานใหญ่เกสตาโป พวกเขาถูกไต่สวนและขังคุกไว้ที่นั่นหนึ่งคืน วันที่ 5 สิงหาคมพวกเขาถูกนำตัวไปยังเฮยส์ฟันเบวาริง (Huis van Bewaring) ซึ่งเป็นคุกแน่นขนัดที่เวเตอริงสคันส์ (Weteringschans) สองวันต่อมาพวกเขาถูกส่งไปยังแว็สเตอร์บอร์ก (Westerbork) ซึ่งเป็นค่ายส่งตัว มีชาวยิวนับแสนคนถูกส่งผ่านค่ายแห่งนี้ เนื่องจากพวกเขาถูกจับกุมได้ขณะหลบซ่อนตัว จึงโดนข้อหาเป็นอาชญากรและจะต้องถูกส่งไปยังค่ายลงทัณฑ์เพื่อเป็นแรงงานหนัก[1]

วิคทอร์ คูเกลอร์ และโยฮันเนิส ไกลมัน ถูกจับตัวและขังคุกอยู่ในค่ายลงโทษฝ่ายศัตรูที่เมืองอาเมอร์สโฟร์ต (Amersfoort) ไกลมันได้รับการปล่อยตัวใน 7 สัปดาห์ให้หลัง แต่คูกเลอร์ต้องอยู่ในค่ายแรงงานหลายแห่งจนกระทั่งสงครามสิ้นสุด[1] มีป คีส กับแบ็ป โฟสเกยล์ ถูกไต่สวนและคุกคามจากตำรวจความมั่นคง ทว่าพวกเขาไม่โดนจำคุก เมื่อพวกเขากลับไปที่ อัคเตอร์เฮอวส์ ในวันรุ่งขึ้น ก็พบกระดาษบันทึกของอันเนอกระจัดกระจายเกลื่อนพื้น พวกเขาเก็บรักษาบันทึกทั้งหมดไว้ รวมถึงอัลบัมภาพถ่ายครอบครัวอีกหลายเล่ม คีสตัดสินใจจะเก็บไว้คืนให้อันเนอหลังสงครามสิ้นสุด วันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2487 คีสพยายามจัดการให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังโดยติดสินบนให้แก่ซิลเบอร์เบาเออร์ แต่เขาปฏิเสธ[1]

การกักกันและการเสียชีวิต

วันที่ 3 กันยายน[6] ทั้งกลุ่มถูกส่งตัวเป็นกลุ่มสุดท้ายไปจากแว็สเตอร์บอร์ก มุ่งสู่ค่ายกักกันเอาชวิทซ์ ใช้เวลาเดินทางถึง 3 วัน ในท่ามกลางความวุ่นวายขณะลงจากรถไฟ พวกผู้ชายก็พลัดจากกลุ่มผู้หญิงและเด็ก แล้วออทโท ฟรังค์ ก็ไม่ได้พบครอบครัวของเขาอีกเลย ในจำนวนผู้โดยสาร 1,019 คนที่มาถึง ถูกแยกส่งไปยังห้องรมแก๊สทันที 549 คน (รวมถึงเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี) อันเนอเพิ่งมีอายุครบ 15 ปีมาได้ 3 เดือน และเป็นหนึ่งในบรรดาผู้รอดชีวิตที่อายุน้อยที่สุด ไม่นานเธอก็เริ่มเข้าใจว่า นักโทษส่วนใหญ่ถูกส่งไปรมแก๊สทันทีที่เดินทางมาถึง เธอไม่ทราบเลยว่ากลุ่มที่มาจาก อัคเตอร์เฮอวส์ ทั้งหมดรอดชีวิต แต่คิดไปว่าพ่อของเธอซึ่งอายุกว่าห้าสิบปีแล้วและไม่ค่อยแข็งแรงนัก คงจะถูกฆ่าทันทีที่พวกเขาพลัดจากกัน[1]

อันเนอกับผู้หญิงคนอื่น ๆ ที่รอดจากการสังหารหมู่ทันทีที่มาถึง ถูกบังคับให้เปลือยกายและฆ่าเชื้อ พวกเธอถูกจับโกนผมและสักหมายเลขประจำตัวไว้บนแขน ในเวลากลางวัน พวกผู้หญิงจะถูกใช้งานเป็นทาส อันเนอต้องทลายหินและขุดพื้น เมื่อตกกลางคืนพวกเขาต้องเบียดเสียดกันอยู่ในคุกแคบ ๆ พยานหลายคนให้ปากคำในภายหลังว่า อันเนอจะหวาดผวาและร้องไห้ทุกครั้งที่เห็นเด็ก ๆ ถูกนำตัวไปยังห้องรมแก๊ส แต่ก็มีพยานอีกหลายคนบอกว่าบางครั้งเธอก็แสดงความกล้าหาญและความแข็งแกร่ง ความอารีและธรรมชาติความเป็นผู้นำในตัวเธอทำให้เธอมักได้รับส่วนแบ่งขนมปังเพิ่มขึ้นสำหรับให้เอดิท มาร์กอท และตัวเธอเอง ในค่ายสกปรกมาก ไม่ช้าเชื้อโรคก็แพร่ระบาด ผิวของอันเนอติดเชื้อหิดอย่างรุนแรง เธอกับมาร์กอทถูกแยกไปห้องผู้ป่วย ที่ซึ่งมีแต่ความมืดสลัวตลอดเวลา และเป็นที่อยู่ของหนู เอดิท ฟรังค์ เลิกกินอาหารส่วนของตน แต่เก็บเอาไว้เพื่อส่งไปให้ลูกสาวทั้งสอง โดยส่งผ่านรูเล็ก ๆ ที่เธอแอบเจาะไว้ทางด้านหลังกำแพงห้องผู้ป่วย[1]

มรณานุสรณ์สำหรับมาร์กอท และอันเนอ ฟรังค์ ที่บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซินเดิม

เมื่อถึงวันที่ 28 ตุลาคมก็มีการคัดเลือกผู้หญิงที่จะย้ายไปยังค่ายกักกันแบร์เกิน-เบลเซิน ผู้หญิงกว่า 8,000 คน รวมทั้งอันเนอและมาร์กอท ฟรังค์ และเอากุสต์ ฟัน แป็ลส์ ถูกย้ายไป แต่เอดิท ฟรังค์ไม่ได้ไปด้วย เธอเสียชีวิตในเวลาต่อมาเนื่องจากอดอาหาร[1] นักโทษจำนวนมากหลั่งไหลไปที่เบลเซินจนต้องมีการตั้งเต็นท์ชั่วคราวสำหรับเป็นที่พักอาศัย ผลจากจำนวนผู้อาศัยที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดโรคระบาดและอัตราเสียชีวิตก็สูงขึ้นอย่างมาก อันเนอได้พบกับเพื่อนเก่าสองคนคือ ฮันเนอลี กอสลาร์ และนาเนตต์ บลิตซ์ เป็นเวลาสั้น ๆ พวกเธอถูกกักกันอยู่ในคนละพื้นที่ของค่าย กอสลาร์กับบลิตซ์มีชีวิตรอดจนสงครามสิ้นสุด ในภายหลังพวกเธอทั้งสองได้เล่าถึงบทสนทนากับอันเนอเมื่อทั้งหมดได้คุยกันชั่วขณะผ่านรั้วกั้นแดน บลิตซ์บอกว่าอันเนอดูผอมมาก ศีรษะล้าน ตัวสั่นเทา ส่วนกอสลาร์เล่าว่าเอากุสต์ ฟัน แป็ลส์ ได้อยู่กับอันเนอและมาร์กอทด้วย ดูเหมือนเธอจะคอยดูแลสองพี่น้องที่กำลังป่วยหนัก คนทั้งสองไม่ได้พบกับมาร์กอท เนื่องจากเธออ่อนแอจนไม่สามารถลุกจากที่นอนได้ อันเนอบอกกับกอสลาร์และบลิตซ์ว่า เธอคิดว่าพ่อกับแม่คงจะตายไปแล้ว ด้วยเหตุนั้นเธอจึงไม่ปรารถนาจะมีชีวิตอยู่ต่อไป กอสลาร์คิดว่าช่วงที่พวกเขาได้พบกันน่าจะอยู่ในราวปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2488[1]

เดือนมีนาคม พ.ศ. 2488 เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ระบาดในค่ายกักกัน ทำให้นักโทษเสียชีวิตไปประมาณ 17,000 คน[1] พยานบางคนเล่าในภายหลังว่า มาร์กอทร่วงตกจากที่นอนและเสียชีวิตจากอาการช็อก หลังจากนั้นไม่กี่วัน อันเนอก็เสียชีวิต ประมาณว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่กองทหารอังกฤษจะสามารถเข้าปลดปล่อยค่ายกักกันได้ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2488 แต่ไม่สามารถระบุวันที่ที่แน่นอนได้[7][8] ค่ายทั้งค่ายถูกเผาหลังจากได้รับการปลดปล่อยเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรคระบาด อันเนอกับมาร์กอทจึงถูกฝังอยู่ใต้กองดินขนาดใหญ่ โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้

หลังจากสิ้นสุดสงคราม ประมาณว่ามีชาวยิวถูกเนรเทศจากเนเธอร์แลนด์ระหว่างปี พ.ศ. 2485 – 2487 ประมาณ 107,000 คน ในจำนวนนี้รอดชีวิตมาได้เพียง 5,000 คน ส่วนชาวยิวที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในเนเธอร์แลนด์มีประมาณ 30,000 คน โดยความช่วยเหลือของขบวนการใต้ดินชาวดัตช์ และรอดชีวิตมาจนถึงหลังสงครามได้ประมาณสองในสามส่วน[9]

ออทโท ฟรังค์ รอดชีวิตจากค่ายกักกันเอาชวิทซ์ หลังสงคราม เขากลับไปยังอัมสเตอร์ดัมและได้อาศัยพำนักอยู่กับยันและมีป คีส เพื่อติดตามค้นหาครอบครัวของเขา เขาได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของภรรยาแล้วตั้งแต่อยู่ที่เอาชวิทซ์ แต่ก็ยังมีความหวังว่าลูกสาวทั้งสองน่าจะรอดชีวิต หลังจากค้นหาอยู่หลายสัปดาห์เขาจึงได้ทราบว่า มาร์กอทและอันเนอเสียชีวิตแล้ว เขาติดตามสอบถามข่าวชะตากรรมของบรรดาสหายของบุตรสาวด้วย และได้ทราบว่าพวกเขาถูกสังหารจนหมด ซูซันเนอ เลเดอร์มันน์ เป็นหนึ่งในชื่อสหายที่ปรากฏบ่อยครั้งอยู่ในสมุดบันทึกของอันเนอ เธอถูกรมแก๊สเสียชีวิตพร้อมกับพ่อแม่ แต่บาร์บารา พี่สาวของซูซันเนอและเพื่อนสนิทของมาร์กอท รอดชีวิต[2] ยังมีเพื่อนร่วมโรงเรียนของพี่น้องฟรังค์อีกหลายคนที่รอดชีวิต เช่นเดียวกับญาติ ๆ อีกหลายคนของทั้งออทโทและเอดิท ฟรังค์ ที่หนีออกจากเยอรมนีในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1930 บางคนไปตั้งรกรากอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

แหล่งที่มา

WikiPedia: อันเนอ_ฟรังค์ http://www.annefrank.ch/ http://www.annefrank.ch/index.php?page=750 http://www.annefrank.com/ http://www.annefrank.com/1_life.htm http://www.findarticles.com/p/articles/mi_m0411/is... http://www.myjewishlearning.com/history_community/... http://query.nytimes.com/gst/fullpage.html?res=9F0... http://select.nytimes.com/mem/archive/pdf?res=F606... http://www.reuters.com/article/latestCrisis/idUSL2... http://www.reuters.com/article/topNews/idUSL233837...