อัปแซ็งต์
อัปแซ็งต์

อัปแซ็งต์

อัปแซ็งต์ (ฝรั่งเศส: absinthe, ออกเสียง: [apsɛ̃t]) เป็นเหล้าอาหนีชนิดหนึ่ง กลั่นจากสมุนไพรหลายชนิด ได้แก่ ดอกและใบของพรรณไม้ชนิด Artemisia absinthium ร่วมกับเมล็ดเทียนสัตตบุษย์, เมล็ดผักชีล้อม และสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ที่ใช้เป็นยาหรือทำอาหาร[1] แต่เดิมจะมีสีเขียวตามธรรมชาติ แต่อาจไม่มีสีก็ได้ วรรณคดีตะวันตกเรื่องต่าง ๆ มักเรียกเหล้าชนิดนี้ว่า "เจ้าภูตเขียว" (la fée verte) ตามธรรมเนียมแล้ว อัปแซ็งต์จะถูกบรรจุขวดโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์โดยปริมาตรในระดับสูง โดยได้รับการอธิบายว่าเป็นเครื่องดื่มกลั่นที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ร้อยละ 45–74 โดยปริมาตร[2][3][4][5] แต่ตามปกติก็ถูกทำให้เจือจางด้วยน้ำก่อนบริโภค แม้ว่าบางครั้งอัปแซ็งต์จะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นเหล้าหวาน (liqueur) แต่ก็ไม่มีการบรรจุอัปแซ็งต์ลงขวดโดยเติมน้ำตาลเพิ่ม ดังนั้นจึงจัดว่าเป็นเหล้า (spirit) ชนิดหนึ่ง[6]อัปแซ็งต์มีต้นกำเนิดในรัฐเนอชาแตลของสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และได้รับความนิยมอย่างสูงในฐานะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฝรั่งเศสช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ศิลปินและนักเขียนชาวปารีส แต่เนื่องจากเหล้าชนิดนี้มีความเกี่ยวข้องบางอย่างกับวัฒนธรรมโบฮีเมีย การบริโภคอัปแซ็งต์จึงถูกต่อต้านจากนักอนุรักษนิยมทางสังคมและผู้นิยมหลักการห้าม (prohibitionism) แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่านักเขียน กวี จิตรกร และนักประพันธ์ดนตรีหลายคนต่างเป็นนักดื่มอัปแซ็งต์ เช่น เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์, เจมส์ จอยซ์, ชาร์ล โบดแลร์, ปอล แวร์แลน, อาร์ตูร์ แร็งโบ, อ็องรี เดอ ตูลูซ-โลแทร็ก, อาเมเดโอ โมดิลยานี, ปาโบล ปีกัสโซ, ฟินเซนต์ ฟัน โคค, ออสการ์ ไวลด์, มาร์แซล พรุสต์, แอลัสเตอร์ โครว์ลีย์, เอริก ซาตี, เอดการ์ แอลลัน โพ, ลอร์ด ไบรอน, อาลแฟรด ฌารี เป็นต้น[7]ในอดีต อัปแซ็งต์มักได้รับการพรรณนาว่าเป็นยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทและสารก่อประสาทหลอนที่มีอันตรายมาก[8] โดยเชื่อกันว่าสารประกอบเคมีชนิดหนึ่งชื่อทูโจน (thujone) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดผลดังกล่าว เมื่อถึงปี ค.ศ. 1915 อัปแซ็งต์ถือเป็นของต้องห้ามในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในยุโรปซึ่งรวมถึงฝรั่งเศส, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย-ฮังการี แม้ว่าอัปแซ็งต์จะถูกกล่าวหาเช่นนั้น แต่ก็ไม่เคยมีการพิสูจน์ให้เห็นจริงว่ามันมีอันตรายมากกว่าเหล้าธรรมดาแต่อย่างใด ผลการวิจัยในยุคหลังแสดงให้เห็นว่าในอัปแซ็งต์มีสารทูโจนอยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และสมบัติการออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทของอัปแซ็งต์ (นอกเหนือจากที่มีอยู่ในแอลกอฮอล์) ก็ถูกขยายให้เกินความจริง[8] การฟื้นฟูการผลิตอัปแซ็งต์เริ่มต้นในคริสต์ทศวรรษ 1990 หลังจากมีการประกาศใช้กฎหมายอาหารและเครื่องดื่มของสหภาพยุโรปซึ่งกำจัดอุปสรรคที่มีมายาวนานต่อการผลิตและการจำหน่าย เมื่อถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 21 มีอัปแซ็งต์เกือบ 200 ยี่ห้อได้รับการผลิตในประเทศต่าง ๆ ประมาณ 12 ประเทศ ที่เด่นที่สุดได้แก่ ฝรั่งเศส, สวิตเซอร์แลนด์, ออสเตรเลีย, สเปน และเช็กเกีย