อาร์มินิอุส
อาร์มินิอุส

อาร์มินิอุส

อาร์มินิอุส (Arminius) หรือที่ชาวเยอรมันเรียกว่า แฮร์มัน (Hermann) เป็นหัวหน้าเผ่าเครุสกีซึ่งเป็นเผ่าหนึ่งของชนชาติเยอรมันโบราณ เขาเป็นผู้นำกองกำลังพันธมิตรชนเผ่าเยอรมันทั้งหลายในยุทธการที่ป่าท็อยโทบวร์ค (Teutoburg) ใน ค.ศ. 9 และมีชัยชนะเหนือกองทหารโรมันทั้งสามได้ ชัยชนะของเขาที่ป่าท็อยโทบวร์คทำให้จักรวรรดิโรมันกำหนดนโยบายถอนกำลังออกจากแผ่นดินเยอรมันอย่างถาวร และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เร่งรัดการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตกในเวลาต่อมา[1] นักประวัติศาสตร์ยุคใหม่หลายคนถือว่าชัยชนะของอาร์มินิอุสเป็นความปราชัยครั้งใหญ่ที่สุดของกรุงโรม[2] อาร์มินิอุสได้ป้องกันชนเผ่าเยอรมันจากการถูกครอบงำโดยวัฒนธรรมโรมันไว้ ชัยชนะของอาร์มินิอุสได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในชัยชนะอย่างขาดลอยที่สุดในประวัติศาสตร์[3][4][5][6] และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์โลก[7]อาร์มินิอุสเกิดในตระกูลผู้นำเผ่าเครุสกีในปี 18 หรือ 17 ก่อนคริสต์กาล และถูกนำตัวไปเป็นองค์ประกันของโรมันตั้งแต่ยังเล็ก เขาเติบโตในกรุงโรมและถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารโรมันตั้งแต่วัยหนุ่ม นั่นทำให้เขาได้รับสัญชาติโรมันและกลายเป็นอัศวินโรมัน ภายหลังมีส่วนปราบกบฏในมณฑลอิลลีรีลงได้ เขาก็ถูกส่งตัวไปยังแผ่นดินเยอรมัน (Germania) เพื่อช่วยเหลือผู้ว่าการโรมัน ปูบลิอุส วารุส (Publius Varus) ในการสยบพวกเยอรมันเผ่าต่าง ๆ ในช่วงนี้เอง อาร์มินิอุสได้สมคบกับชนเผ่าเยอรมันเพื่อเตรียมการกบฎต่อพวกโรมัน จนนำไปสู่ซุ่มโจมตีสามกองทหารโรมันที่ป่าท็อยโทบวร์คจนพินาศย่อยยับภายหลังมีชัยในศึกท็อยโทบวร์ค อาร์มินิอุสก็นำทัพชนเผ่าเยอรมันเข้าต่อสู้กับทัพของแกร์มานิกุส (Germanicus) แม่ทัพชาวโรมัน อีกหลายครั้งหลายครา นอกจากนี้ยังสามารถกำจัดคู่แข่ง มารอบอดุอุส (Maroboduus) แห่งเผ่ามาร์โคมัน (Marcomanni) ซึ่งหวั่นวิตกถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ของอาร์มินิอุสจนพยายามลอบสังหารเขาใน ค.ศ. 21 แต่ล้มเหลว นักประวัติศาสตร์ตากิตุสยกย่องอาร์มินิอุสว่าเป็นผู้ปลดแอกชนแห่งเผ่าเยอรมันที่กล้าต่อสู้จักรวรรดิโรมันในช่วงที่กรุงโรมเรืองอำนาจขีดสุดในช่วงการรวมชาติเยอรมันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาร์มินิอุสถูกยกยอโดยเหล่านักชาติเยอรมันนิยมในฐานะสัญลักษณ์ของความเป็นหนึ่งเดียวและอิสรภาพ[8] อย่างไรก็ตาม ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ชื่อของอาร์มินิอุสกลับเลือนหายไปจากหนังสือเรียนเนื่องจากเขามีภาพลักษณ์ชาติทหารนิยม ทำให้คนเยอรมันรุ่นใหม่ไม่ค่อยจะรู้เรื่องราวของเขามากนัก แม้แต่งานฉลองครบสองพันปีศึกท็อยโทบวร์คก็ยังเป็นเพียงงานรำลึกเล็ก ๆ เท่านั้น[8]