ประวัติ ของ อาสนวิหารกาวายง

เสกในปี ค.ศ. 1251 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 5 ตัวอาคารมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์เป็นหลัก ประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์ที่มีความยาวห้าช่วงหลังคา เพดานโค้งแบบประทุน (barrel vault) และขนาบข้างด้วยชาเปลหลายหลัง บนหลังคามีหอหลังคาโดมทรงแปดเหลี่ยมซึ่งครอบบริเวณจุดตัดกับบริเวณร้องเพลงสวดซึ่งด้านบนเป็นที่ตั้งของหอระฆังของอาสนวิหาร บริเวณมุขโค้งด้านสกัดประกอบด้วยผนังจำนวน 5 ด้าน มุงด้วยเพดานแบบทรงกลม ด้านในเป็นที่ตั้งของฉากประดับแท่นบูชาอันวิจิตรซึ่งเป็นงานศิลปะสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18

ภายในอาสนวิหารยังพบภาพเขียนมากมายที่ยังอยู่ในสภาพดีของสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 โดยจิตรกรเซแก็ง (Sequin) ภายในบริเวณกลางโบสถ์บริเวณช่องโค้งแบบครึ่งวงกลมตกแต่งด้วยหินแกะสลักเป็นรูปตราสัญลักษณ์ประจำองค์ของมุขนายกแห่งกาวายงในอดีต ส่วนช่องโค้งเหนือบริเวณร้องเพลงสวดตกแต่งด้วยลายเถาใบไม้ บริเวณหลังคาโดมด้านในเป็นลายเถาและดวงดาว บริเวณใต้ท้องของช่องโค้งเหนือมุขโค้งด้านสกัดวาดเป็นรูปวงกลมแบบเหรียญ และมีภาษาละตินกำกับว่า «Quam dilecta tabernacula tua domine virtutum»

งานก่อสร้างอาสนวิหารเริ่มขึ้นในส่วนของบริเวณกลางโบสถ์ก่อน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1115 แล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1125 และตามมาภายหลังคือส่วนของมุขโค้งด้านสกัดซึ่งเสร็จในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ในสมัยสงครามศาสนาของฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 16 กองกำลังฝ่ายโปรเตสแตนต์ นำโดยฟร็องซัว เดอ โบมง บารอนแห่งอาแดร (François de Beaumont, baron des Adrets) เข้าบุกทำลายอาสนวิหาร[2] ซึ่งอีกร้อยปีถัดมานั้นจึงได้มีการบูรณะครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นที่มาของชาเปลด้านข้างทั้งหลายที่ตกแต่งด้วยผนังไม้แกะสลัก และภาพเขียนผลงานของนีกอลา มีญาร์ (Nicolas Mignard) และปารอแซล (Parrocel) ต่อมาในระหว่างปี ค.ศ. 1858 ถึง ค.ศ. 1867 ได้มีการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง นำโดยโฌแซ็ฟ เดอ แตริส (Joseph de Terris) งานเด่น ๆ ในช่วงนี้คืองานจิตรกรรมฝาผนังและรูปปั้นบางส่วน[3].

ในบริเวณแวดล้อมยังมีวิหารคดแบบโรมาเนสก์ และซากปรักหักพังของชาเปล

ใกล้เคียง

อาสนวิหาร อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส อาสนวิหารกลอสเตอร์ อาสนวิหารอัสสัมชัญ อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารนักบุญเปาโล อาสนวิหารแร็งส์ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อาสนวิหารโคโลญ อาสนวิหารอาเมียง