ประวัติ ของ อาสนวิหารมงเปอลีเย

สมัยก่อนเป็นอาสนวิหาร

แต่ก่อนจะมาเป็นอาสนวิหารแห่งนี้ สถานที่นี้เคยเป็นอารามและวิทยาลัยเก่า ก่อตั้งราวปี ค.ศ. 1364 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาเออร์บันที่ 5 และต่อมาได้ยกฐานะเป็นอาสนวิหารเมื่อปี ค.ศ. 1536 เมื่อมีการย้ายที่ตั้งของอิปิสโคปัล (ศูนย์กลางการปกครองคริสตจักรประจำท้องถิ่น)จากเมืองมากลอนมาอยู่ที่มงเปอลีเย ซึ่งหลุยส์ กีโร นักประวัติศาสตร์ชาวมงเปอลีเยได้กล่าวไว้ในหนังสือของเขาถึงอาสนวิหารแห่งนี้ว่า เป็นสิ่งก่อสร้างที่ประกอบไปด้วยชาเปลสวยงามอย่างหลากหลาย[2]

สมัยหลังปี ค.ศ. 1536

มีการก่อสร้างหอทั้งสี่มุมของบริเวณกลางโบสถ์ เนื่องจากมีจุดประสงค์หลักเพื่อป้องกันการรุกรานจากผู้ต่อต้านศาสนาในช่วงปี ค.ศ. 1567 ตัววิหารจึงมีลักษณะเป็นป้อมปราการ และมีชื่อเรียกอย่างลำลองว่า "ป้อมนักบุญเปโตร" ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 ผนังด้านนอกของวิหารมีการสร้างช่องเชิงเทินไว้ตอนบน พร้อมทั้งทางเดินด้านหลังสำหรับทหารรักษาการณ์ ประตูทางเข้าหลักประกอบด้วยบานประตูขนาดใหญ่ และเสาทรงกระบอกสองเสาตั้งตระหง่านอยู่ทั้งสองข้าง ทำเป็นซุ้มเชื่อมกับตัวอาสนวิหารด้วยเพดานโค้ง

อีกหนึ่งมรดกทางสถาปัตยกรรมของยุคกลางที่มีมาถึงปัจจุบันนี้ คือ แผนผังของอาสนวิหาร ซึ่งเป็นอาคารลักษณะตรงซึ่งมีช่วงตัดถึง 5 ช่วง ซึ่งทำให้เป็นที่ตั้งของชาเปลบริเวณทางเดินข้างถึง 14 หลัง ซึ่งแต่ละหลังต่างอุทิศให้นักบุญสำคัญองค์ต่าง ๆ อาทิ พระแม่มารี, พระมหากางเขน, นักบุญเซซีลีอา, นักบุญเออซูลา, นักบุญมาร์แต็ง, นักบุญแคเธอริน, นักบุญลาซารัส, นักบุญเปโตร, นักบุญมารีย์ชาวมักดาลา, นักบุญมีคาเอล, นักบุญแยร์แมง, นักบุญเบลส, นักบุญวิกตอร์ นอกจากนี้องค์ประกอบต่าง ๆ ในอาสนวิหารนั้นละเอียดและสวยงาม แท่นบูชาเอกของอาสนวิหารยังประดับประดาอย่างวิจิตรด้วยทอง บริเวณชั้นล่างมีที่บรรจุหีบวัตถุมงคลซึ่งบรรจุเรลิกของนักบุญต่าง ๆ เช่น นักบุญเบลส, นักบุญแยร์แมง, นักบุญเบเนดิกต์ รวมถึงเอกสารโบราณต่าง ๆ ด้วย

สงครามศาสนา

ในสมัยสงครามศาสนาทำให้อาสนวิหารเป็นเป้าหมายแรกในการถูกทำลายโดยกองกำลังฝ่ายโปรเตสแตนต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม ค.ศ. 1561 หลักจากถูกบุกโจมตีช่วงเวลากลางคืน เหล่ากองกำลังได้บุกเข้ามาทางลับที่ใช้เพื่อให้บุคคลสำคัญของฝ่ายคาทอลิกไว้ใช้หลบซ่อนลี้ภัย เป็นผลทำให้มีผู้ถูกสังหารเสียชีวิตภายในวิหารในครั้งนั้นประมาณ 8–50 ราย จากหลักฐานที่มีซึ่งยืนยันโดยฌัก เดอ มงแตญ นักประวัติศาสตร์ยุโรปได้สันนิษฐานว่าประมาณ 17 ราย ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่น่าเชื่อถือที่สุด ภายใน 6–7 ชั่วโมงนับจากการสังหารหมู่ภายในอาสนวิหาร ก็มีการปล้นและเผาทำลายของสำคัญภายในจนสิ้น อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปกครองประจำเมือง (ซึ่งเป็นชาวโปรเตสแตนต์ทั้งหมด)ได้สามารถเก็บรักษาสมบัติสำคัญของอาสนวิหารเอาไว้ได้ ต่อมาหลังจากการปล้นสะดมครั้งนี้ คอนแวนต์และอารามต่าง ๆ ภายในเมืองก็ต้องเผชิญชะตากรรมเดียวกันในที่สุด ต่อมาในปี ค.ศ. 1562 ได้มีการนำระฆังและโลหะที่ประกอบต่าง ๆ มาหลอมเพื่อใช็เป็นลูกปืนใหญ่ในคราที่เมืองถูกล้อมโดยกองกำลังฝ่ายคาทอลิก

ในปี ค.ศ. 1567 ในครั้งนี้อาสนวิหารถูกบุกโดยกองกำลังฝ่ายโปรเตสแตนต์ และตัวอาคารได้กลายเป็นจุดหมายหลัก หอระฆังได้ถูกถล่มลงและตามด้วยอาคารหลักทั้งหมด จนเหล่านักบวชทั้งหลายต้องลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองวีลเนิฟว์-เล-มากลอนและเมืองฟรงตีญ็อง จนเสร็จสิ้นการล้อมเมืองโดยกองทัพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ในปี ค.ศ. 1622

ซึ่งในครั้งนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 ได้เริ่มการบูรณะอาสนวิหารขึ้นใหม่ ในส่วนของเพดานโค้ง พื้นของบริเวณกลางโบสถ์ และหน้าบันฝั่งทางเข้าใหญ่ ซึ่งต่อมามีผู้รับผิดชอบการบูรณะครั้งใหญ่โดยสถาปนิกฌ็อง-อ็องตวน ฌีราล ในคริสต์ศตวรรษที่ 18 ทำให้อาสนวิหารก็ได้เปลี่ยนโฉมเป็นสิ่งก่อสร้างแห่งความทะเยอทะยานในยุคนั้น

ใกล้เคียง

อาสนวิหาร อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส อาสนวิหารกลอสเตอร์ อาสนวิหารอัสสัมชัญ อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารนักบุญเปาโล อาสนวิหารแร็งส์ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อาสนวิหารโคโลญ อาสนวิหารอาเมียง