ประวัติ ของ อาสนวิหารลูว์ซง

ระเบียงคดสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14

อาสนวิหารแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของโบสถ์ของอารามเก่าตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 5 ซึ่งได้ถูกทำลายโดยการรุกรานของชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 853 และอีกครั้งในปี ค.ศ. 877 และตามมาด้วยไฟไหม้ครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1068 โดยกีโยมที่ 8 เคานต์แห่งปัวตู ทำให้โบสถ์ได้ถูกทำลายลงสิ้น ส่งผลให้สมเด็จพระสันตะปาปาอเล็กซานเดอร์ที่ 2 มีพระบัญชาคว่ำบาตรระหว่างคริสตจักรกับเคานต์แห่งปัวตู จึงทำให้บุตรชายคนโตของเคานต์แห่งปัวตู กีโยมที่ 9 ต้องสร้างวิหารใหม่ขึ้นทดแทนด้วยเงินของตัวเอง ในที่สุดจึงเริ่มการก่อสร้างในปี ค.ศ. 1091 โดยอธิการอารามฌอฟรัว ซึ่งกินเวลานานถึง 30 ปี และวิหารแบบโรมาเนสก์แห่งใหม่นี้ได้รับการเสกเมื่อปี ค.ศ. 1121 โดยอธิการอารามแฌร์แบร์

ในปัจจุบันยังสามารถพบเห็นซากของวิหารโรมาเนสก์เก่านี้ในอาสนวิหารปัจจุบัน โดยที่เหลืออยู่เป็นบริเวณแขนกางเขนฝั่งทิศเหนือและมุขทางเข้า ซึ่งอยู่ที่จัตุรัสซอแชเดตุชในบริเวณใกล้เคียง

ต่อมาอารามแห่งนี้ได้รับการเลื่อนฐานะขึ้นเป็นอาสนวิหารในปี ค.ศ. 1317 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ซึ่งเป็นที่ตั้งของมุขนายกแห่งมุขมณฑลปัวตีเย ต่อมาได้มีการบูรณะซ่อมแซมและปรับปรุงครั้งใหญ่ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 และ 15 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงสถาปัตยกรรมให้เป็นแบบกอทิก และภายหลังได้ผ่านการบูรณะปรับปรุงเป็นระยะเนื่องจากตกอยู่ท่ามกลางสมรภูมิเป็นช่วง ๆ ในระหว่างสงครามร้อยปี นอกจากนี้ยังมีระเบียงคดของอาสนวิหารซึ่งอยู่ในสภาพดีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 14 ชาเปลบริเวณทางเดินข้างทิศใต้สร้างขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1530 ถึงค.ศ. 1550

ต่อมาในสมัยสงครามศาสนา อาสนวิหารถูกทำลายโดยกลุ่มโปรเตสแตนต์เป็นจำนวนทั้งสิ้น 4 ครั้งในปี ค.ศ. 1562, ค.ศ. 1568, ค.ศ. 1570 และ ค.ศ. 1622 โดยถูกปล้นเอาวัตถุต่าง ๆ ด้านในไปจนหมดสิ้น

ต่อมาในปี ค.ศ. 1665 หอระฆังได้ถล่มลงบนบริเวณกลางโบสถ์ช่วงที่ 1 ทำให้ต้องมีการบูรณะก่อสร้างขึ้นใหม่ซึ่งหน้าตาเป็นแบบที่เห็นจนถึงปัจจุบันภายใต้การควบคุมของมุขนายกอ็องรี เดอ บารียง ซึ่งบริเวณยอดแหลมแบบนีโอกอทิกนั้นสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 19

ในปี ค.ศ. 1722 เป็นช่วงเวลาก่อสร้างชาเปลข้างฝั่งทิศเหนือ และต่อมาในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นการสร้างแท่นบูชาจนถึงเบญจาคริสต์ บริเวณเก้าอี้ร้องเพลงสวดงานไม้แกะสลักผีมือเซบัสเตียง แลเน (Sébastien Leysner)

ในสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส เครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งของอาสนวิหารถูกขายทอดตลาดและผ่านมือไปมากมาย ซึ่งอาสนวิหารได้ถูกใช้เป็นทั้งคอกม้า ค่ายทหาร และคลังแสงอาวุธ ซึ่งโชคดีที่เหล่าแท่นบูชาด้านข้างต่าง ๆ ฉากประดับแท่นบูชา และเก้าอี้ร้องเพลงสวดยังอยู่ในสภาพดี

ใกล้เคียง

อาสนวิหาร อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส อาสนวิหารกลอสเตอร์ อาสนวิหารอัสสัมชัญ อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารนักบุญเปาโล อาสนวิหารแร็งส์ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อาสนวิหารโคโลญ อาสนวิหารอาเมียง