ประวัติ ของ อาสนวิหารวาน

อาสนวิหารแห่งแรกของเมืองวานถูกทำลายลงในปี ค.ศ. 919 จากการรุกรานของชาวไวกิงในแคว้นเบรอตาญ ต่อมาได้มีการสร้างขึ้นใหม่ราว ค.ศ. 1020 โดยมุขนายกฌูว์ดีกาแอลและน้องชายของท่านคือดยุกฌอฟรัวที่ 1 แห่งเบรอตาญ โดยสร้างในแบบสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ วัตถุดิบหลักที่ใช้คือหินแกรนิต และต่อมาได้มีการต่อเติมอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้อาสนวิหารแห่งนี้มีความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมอย่างมาก

ต่อมาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 12 ได้มีการสร้างอาสนวิหารแห่งใหม่ขึ้น ซึ่งบางส่วนยังเหลือถึงปัจจุบันซึ่งคือบริเวณฐานของหอระฆังและผนังบางด้านของบริเวณร้องเพลงสวด การปรับปรุงและขยายให้เป็นแบบกอทิกนั้นเกิดขึ้นตามดำริของมุขนายกอีฟว์ เดอ ปงซาล ในช่วงระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 ถึง 16 (ราวปี ค.ศ. 1454–1520) อันเนี่องมาจากพื้นที่เดิมเล็กเกินไปสำหรับปริมาณของผู้แสวงบุญที่มาสักการะหลุมฝังศพของนักบุญบิแซ็นต์ เฟร์เรร์ ซึ่งมรณภาพในปี ค.ศ. 1419 และได้ฝังศพอยู่ภายใต้ของบริเวณร้องเพลงสวดของอาสนวิหาร ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศเป็นนักบุญในปี ค.ศ. 1455 โดยสมเด็จพระสันตะปาปาคาลิกซ์ตุสที่ 3 เงินสบทบทุนการก่อสร้างอาสนวิหารล้วนได้มาจากการบริจาคของผู้แสวงบุญแทบทั้งสิ้น

ในช่วงนี้ได้มีการสร้างบริเวณกลางโบสถ์ แขนกางเขน และมุขทางเข้าบริเวณแขนกางเขนฝั่งทิศเหนือ ซึ่งบริเวณมุขทางเข้าแห่งนี้ประกอบด้วยที่แสดงรูปปั้นของอัครทูตทั้งสิบสองพระองค์ ตามหลักปฏิบัติของชาวเบรอตาญ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 15 ได้มีการสร้างชาเปลทรงกลมขนาดเล็กสองชั้น เรียกว่า "Chapelle du Saint-Sacrement" ซึ่งสร้างในแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูศิลปวิทยา ตั้งอยู่ยื่นออกมาด้านนอกติดกับทางเข้าฝั่งทิศเหนือของแขนกางเขนบริเวณระหว่างช่วงเสาที่ 5 ของอาสนวิหาร

ส่วนหอสูงฝั่งทิศเหนือนั้นเป็นโครงสร้างหลักที่รับมาจากตัวอาสนวิหารเก่าที่เป็นแบบโรมาเนสก์ ส่วนเพดานโค้งและบริเวณร้องเพลงสวดนั้นสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 18 (ระหว่างปี ค.ศ. 1771 - ค.ศ. 1774) ส่วนหอด้านทิศใต้และหน้าบันทิศตะวันตกรวมทั้งมุขทางเข้าสร้างต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19

ใกล้เคียง

อาสนวิหาร อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส อาสนวิหารกลอสเตอร์ อาสนวิหารอัสสัมชัญ อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารนักบุญเปาโล อาสนวิหารแร็งส์ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อาสนวิหารโคโลญ อาสนวิหารอาเมียง