อำเภอเมือง ของ อำเภอ

อำเภอเมือง เป็นอำเภอพิเศษ มีลักษณะคล้ายกับเมืองหลวงของจังหวัด จะเป็นที่ตั้งของหน่วยงานสำคัญระดับจังหวัด (รวมทั้ง ศาลากลางจังหวัด ด้วย) อำเภอเมืองจึงมักจะมีความเจริญ และประชากรหนาแน่นกว่าอำเภออื่น ๆ ในภาษาราชการ อำเภอเมืองในแต่ละจังหวัด จะต้องเรียกชื่อ โดยมีชื่อจังหวัดต่อท้าย เช่น อำเภอเมืองบุรีรัมย์ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ เป็นต้น ประชากรในบางจังหวัด จะไม่นิยมเรียกอำเภอเมืองของตนว่า อำเภอเมือง แต่ มักจะเรียก ชื่อจังหวัดนั้น ๆ แทน เช่น ไปขอนแก่น สำหรับคนในจังหวัดขอนแก่น ย่อมหมายถึง เดินทางไปอำเภอเมืองของจังหวัดขอนแก่น (หรืออาจเรียกชื่ออื่นในท้องถิ่นแทน) เช่น โคราชหรือบ้านดอน[ต้องการอ้างอิง]

เดิมอำเภอที่ตั้งจังหวัดบางแห่งไม่มีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อ ในขณะที่บางอำเภอที่ไม่ได้เป็นอำเภอที่ตั้งจังหวัด จะมีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อด้วย เช่น อำเภอเมืองพิมาย จังหวัดนครราชสีมา จนต่อมาในปี พ.ศ. 2481 อำเภอที่ตั้งจังหวัดได้เปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอเมือง ในขณะที่อำเภอที่เหลือที่ไม่ใช่ที่ตั้งจังหวัดได้เปลี่ยนโดยเอาคำว่า เมือง ออกจากชื่อ[1] ปัจจุบัน มีเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีอำเภอเมือง คือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่มีอำเภอพระนครศรีอยุธยา (แทนที่จะมีชื่อเป็น อำเภอเมืองพระนครศรีอยุธยา) (เดิมชื่ออำเภอรอบกรุง ต่อมาเปลี่ยนเป็นอำเภอกรุงเก่า ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบัน) อำเภอที่มีชื่อเหมือนกับจังหวัด คือ อำเภอพระนครศรีอยุธยา แต่ทีไม่ใช่เป็นที่ตั้งของศาลากลางจังหวัดเหมือน อำเภอเมืองของจังหวัดอื่น ๆ

ส่วนใหญ่อำเภอเมืองจะเป็นอำเภอที่มีประชากรมากที่สุดในจังหวัด โดยหน่วยงานสำคัญของจังหวัดก็จะตั้งอยู่ในเมืองที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนี้ด้วย ยกเว้นในบางจังหวัดเช่น อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีการเจริญเติบโตรวดเร็วกว่าอำเภอเมืองสงขลา หรือ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากมีการเชื่อมโยงการคมนาคมที่ดี และเป็นย่านเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมีอำเภอที่ไม่ใช่อำเภอที่ตั้งจังหวัด แต่มีคำว่า เมือง อยู่ในชื่อ ได้แก่ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอเมืองปาน อำเภอเมืองสรวง และอำเภอเมืองยาง ซึ่งก่อตั้งเมื่อระหว่างปี พ.ศ. 2516 และ พ.ศ. 2538