ประวัติ ของ อำเภอกมลาไสย

ประวัติความเป็นมาสมัยเดียวกับท้าวโสมพะมิตร ตั้งเมืองกาฬสินธุ์ เมื่อ พ.ศ. 2334 และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นพระยาชัยสุนทร ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรกผู้ครองเมืองกาฬสินธุ์ จึงได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาชัยสุนทร ติดต่อกันมาหลายคน จนถึงพระยาชัยสุนทรคนที่ 7 ชื่อท้าวกิ่ง ประมาณปี พ.ศ. 2396 มีราชวงศ์เกษเป็นว่าที่อุปราชต่อมาพระยาชัยสุนทร (กิ่ง) กับท้าวหนู ได้ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อขอรับพระราชทานสัญญาบัติ ในการเป็นเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ และ ขอพระราชทานให้ท้าวหนูน้องชายเป็นว่าที่อุปราชด้วย ซึ่งก็ได้รับพระราชทานตามที่พระยาสุนทร (กิ่ง) ต้องการ เมื่อเป็นดังนี้ ความบาดหมาง ความแตกแยกก็เกิดขึ้นตลอดเวลา ระหว่างพระยาชัยสุนทร (กิ่ง) และอุปราชหนูฝ่ายหนึ่ง กับราชวงษ์เกษ อีกฝ่ายหนึ่ง

ครั้นประมาณปี พ.ศ. 2460 พระยาชัยสุนทรกับราชวงศ์เกษ จึงพากันลงไปว่าความที่กรุงเทพฯ เพราะตกลงกันไม่ได้ในที่สุดราชวงศ์เกษ จึงขอเข้าเฝ้ากราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอแยกจากราชวงศ์กาฬสินธุ์ แล้วไปตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางทิศใต้ ของเมืองกาฬสินธุ์ ริมแม่น้ำปาว ห่างจากเมืองเดิมประมาณ 13 กิโลเมตร ที่ตั้งเมืองบริเวณนี้เป็นดงใหญ่อุดมสมบูรณ์ มีหนองบัวมีบัวนานาชนิด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชานุญาตให้ตั้งเมืองขึ้น บริเวณที่เรียกว่า ปากน้ำดอกไม้ที่ไหลมาบรรจงกับลำน้ำปาว และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งราชวงศ์เกษขึ้นเป็น พระราษฎรบริหารเกษ เจ้าเมืองกระมาลาไสย เป็นคนแรกโดยมีเมืองสหัสขันธ์ และ เมืองกุดสิมนารายณ์มาขึ้นด้วย

พระราษฎรบริหาร (เกษ) ปกครองเมืองกระมาลาไสย อยู่ประมาณ 11 ปี ก็ถึงแก่กรรมเมืองสหัสขันธ์ และเมืองกุมสิมนารายณ์ ก็แยกตัวออกจากการปกครองเมื่อราวปี พ.ศ. 2421 ครั้นปี พ.ศ. 2422 จึงโปรดเกล้าฯ ตั้งอุปราชทองบุตรของพระราษฎรบริหาร (เกษ) ขั้นเป็นพระราษฎรบริหารแทนพ่อแล้วตั้งราชวงศ์บัว น้องชายคนที่ 2 เป็นอุปราชสืบทอดจนมาถึงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงปรับปรุงแบบการปกครองบ้านเมืองขึ้นใหม่ โดยแบ่งเป็นกระทรวง ในส่วนภูมิภาคหัวเมืองใหญ่ๆ ตั้งขึ้น เป็นมณฑลเมืองกระมาลาไสย ให้เป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่อมณฑลอุบลฯ และขึ้นตรงต่อมณฑลร้อยเอ็ด ต่อมาสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ระหว่างปี พ.ศ. 2453 - 2468 ได้มีการปรับปรุงกิจการบ้านเมืองอีก โดยยุบมณฑลเป็นจังหวัด ได้แต่งตั้งอำเภอใหญ่ๆเป็นจังหวัด และอำเภอเมืองกาฬสินธุ์ได้ยกฐานะเป็นจังหวัด ในปี พ.ศ. 2456 อำเภอกระมาลาไสยจึงได้มารวมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ชื่อใหม่ว่าอำเภอ "กมลาไสย"[1]

  • วันที่ 12 สิงหาคม 2490 แยกพื้นที่อำเภอกาฬสินธุ์ อำเภอกมลาไสย อำเภอยางตลาด อำเภอสหัสขันธ์ และอำเภอกุฉินารายณ์ มาตั้งเป็น จังหวัดกาฬสินธุ์[2][3]
  • วันที่ 12 ธันวาคม 2493 ตั้งตำบลกุดฆ้องชัย แยกออกจากตำบลหนองแปน[4]
  • วันที่ 17 กันยายน 2498 จัดตั้งสุขาภิบาลกมลาไสย ในท้องที่บางส่วนของตำบลกมลาไสย[5]
  • วันที่ 17 ธันวาคม 2500 ตั้งตำบลธัญญา แยกออกจากตำบลกมลาไสย และตำบลดงลิง ตั้งตำบลสามัคคี แยกออกจากตำบลโพนงาม[6]
  • วันที่ 26 กรกฎาคม 2509 จัดตั้งสุขาภิบาลร่องคำ ในท้องที่บางส่วนของตำบลสามัคคี (ในขณะนั้น)[7]
  • วันที่ 26 สิงหาคม 2512 ตั้งตำบลหลักเมือง แยกออกจากตำบลกมลาไสย[8]
  • วันที่ 25 สิงหาคม 2513 ตั้งตำบลร่องคำ แยกออกจากตำบลสามัคคี[9]
  • วันที่ 5 ตุลาคม 2514 ตั้งตำบลลำชี แยกออกจากตำบลกุดฆ้องชัย[10]
  • วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2516 แยกพื้นที่ตำบลร่องคำ และตำบลสามัคคี อำเภอกมลาไสย มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอร่องคำ ขึ้นกับอำเภอกมลาไสย[11]
  • วันที่ 17 มิถุนายน 2518 ตั้งตำบลโคกสะอาด แยกออกจากตำบลหนองแปน[12]
  • วันที่ 5 สิงหาคม 2523 ตั้งตำบลเจ้าท่า แยกออกจากตำบลดงลิง และตำบลธัญญา[13]
  • วันที่ 28 สิงหาคม 2527 ตั้งตำบลเหล่าอ้อย แยกออกจากตำบลร่องคำ[14]
  • วันที่ 25 สิงหาคม 2530 ตั้งตำบลโคกสมบูรณ์ แยกออกจากตำบลโพนงาม[15]
  • วันที่ 31 สิงหาคม 2531 ตั้งตำบลโนนศิลา แยกออกจากตำบลหนองแปน[16]
  • วันที่ 22 เมษายน 2535 จัดตั้งสุขาภิบาลธัญญา ในท้องที่บางส่วนของตำบลธัญญา[17]
  • วันที่ 30 กันยายน 2535 จัดตั้งสุขาภิบาลหนองแปน ในท้องที่บางส่วนของตำบลหนองแปน[18]
  • วันที่ 11 สิงหาคม 2536 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลกมลาไสย[19] เพื่อความเหมาะสมในการบริหารกิจการและการทะนุบำรุงท้องถิ่น
  • วันที่ 3 พฤศจิกายน 2536 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอร่องคำ อำเภอกมลาไสย เป็น อำเภอร่องคำ[20]
  • วันที่ 9 พฤศจิกายน 2538 ตั้งตำบลฆ้องชัยพัฒนา แยกออกจากตำบลหนองแปน ตำบลลำชี และตำบลกุดฆ้องชัย[21]
  • วันที่ 25 มิถุนายน 2540 แยกพื้นที่ตำบลฆ้องชัยพัฒนา ตำบลกุดฆ้องชัย ตำบลโคกสะอาด ตำบลโนนศิลา และตำบลลำชี อำเภอกมลาไสย มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอฆ้องชัย ขึ้นกับอำเภอกมลาไสย[22]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะสุขาภิบาลกมลาไสย สุขาภิบาลธัญญา และสุขาภิบาลหนองแปน เป็นเทศบาลตำบลกมลาไสย เทศบาลตำบลธัญญา และเทศบาลตำบลหนองแปน ตามลำดับ[23]
  • วันที่ 10 เมษายน 2544 เปลี่ยนแปลงชื่อตำบลกุดฆ้องชัย กิ่งอำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย เป็น ตำบลเหล่ากลาง[24]
  • วันที่ 6 กรกฎาคม 2547 ยุบสภาตำบลหนองแปน รวมกับเทศบาลตำบลหนองแปน[25]
  • วันที่ 8 กันยายน 2550 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย เป็น อำเภอฆ้องชัย[26]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอกมลาไสย //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.dla.go.th/upload/schemaID%5B14%5D/367_n... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2493/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2509/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2513/D/...