ประวัติศาสตร์ ของ อำเภอกุมภวาปี

การตั้งถิ่นฐาน

เมืองกุมภวาปีเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และได้พัฒนาการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุที่มีการสำรวจ พบในท้องที่ต่างๆกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง บริเวณที่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีที่สำคัญได้แก่ บริเวณบ้านดอนแก้ว ซึ่งเป็นเกาะกลางหนองหานน้อยกุมภวาปีบริเวณบ้านตูมใต้ บ้านเมืองพรึก บ้านสี่แจ และบ้านกงพาน ซึ่งโบราณวัตถุส่วนใหญ่ จะเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ดินเผาและโลหะ จาการศึกษาของนักวิชาการด้านโบราณคดีได้สันนิษฐานไว้ว่า บริเวณแหล่งที่มีการสำรวจพบโบราณวัตถุเหล่านี้มีลักษณะเป็นชุมชนดั้งเดิมแบบล่าสัตว์และทำกสิกรรมตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงยุคประวัติศาสตร์มีขนาดของชุมชนค่อนข้างใหญ่ มีการใช้โลหะ เหล็กและสำริด และมีการติดต่อสัมพันธ์กับชุมชนอื่นๆ ที่ยู่บริเวณใกล้เคียงกันลักษณะพึ่งพาอาศัยและแลกเปลี่ยนปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต

สมัยก่อนประวัติศาสตร์

เมืองกุมภวาปี มีชื่อปรากฏในวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานเรื่องผาแดงนางไอ่ ในนาม เมืองเอกชะทีตาหรือทีตานคร อันถือเป็นเวรกรรมที่เป็นต้นเค้าของปรากฏชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวข้องในบริเวณหนองหานน้อยและลุ่มน้ำชีตอนบน ความในวรรณกรรมท้องถิ่น เรื่องผาแดงนางไอ่ นั้นกล่าวว่าเมืองทีตานครเป็นเมืองใหญ่ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์เจ้าผู้ครองเมืองชื่อพญาขอม มีธิดาชื่อว่า ไอ่คำ เมื่อนางไอ่คำเจริญวัยได้มีเจ้าชายจากเมืองผาโพงชื่อ ท้าวผาแดง ได้มาติดพันเกี้ยวพาราสีหวังได้เป็นคู่ครอง

กาลต่อมาพญาขอมได้จัดงานบุญบั้งไฟของเมืองทีตานครนี้ได้ล่วงรู้ไปถึงเมืองบาดาลเขตแดนของพญานาคทำให้ท้าวพังคี โอรสของพญานาคปลอมตัวมาเป็นกระรอกเผือกขึ้นมาเที่ยวชมงานพร้อมกับบริวาร ท้าวพังคีในร่างกระรอกเผือกได้แอบยลโฉมนางไอ่คำทางช่องหน้าต่าง เมื่อนางไอ่คำเห็นเข้าก็ปรารถนาอยากได้กระรอกเผือกไว้เชยชม จึงให้อำมาตย์ตามจับแต่ก็จับไม่ได้ ในที่สุดนายพรานประจำเมืองก็ใช้หน้าไม้ยิงกระรอกเผือกตายแล้วก็ชำแหละเนื้อกระรอกนำมาแบ่งปันประกอบอาหารกิน ด้วยแรงอธิษฐานของพังคีก่อนตายทำให้เนื้อกระรอกเผือกเพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมากมายกินกันทั่วเมืองก็ไม่หมดและขอให้คนที่ได้กินเนื้อจงตายตามไปด้วย

เมื่อท้าวพังคีตาย บริวารได้กลับไปบอกพญานาคบิดาของพังคี ทำให้พญานาคโกรธมากจึงสำแดงอิทธิฤทธิ์ทำให้เมืองทีตานครของพญาขอมถล่มจมดินกลายเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ซึ่งก็คือ หนองหานกุมภวาปีในปัจจุบัน ส่วนชาวเมืองที่กินเนื้อกระรอกเผือกก็ล้วนตายกันหมดรวมทั้งท้าวผาแดงและนางไอ่คำด้วย ยกเว้นบรรดาแม่หม้ายที่ไม่ได้รับแบ่งเนื้อกระรอกเผือกมากิน ทำให้บ้านเมืองของเขาไม่ถูกทำลายจึงเหลือเป็นเกาะกลางหนองหานที่เรียกกันว่า บ้านดอนแก้ว ในปัจจุบัน

สมัยประวัติศาสตร์

หลังจากที่ปรากฏเรื่องราวของเมืองกุมภวาปีในนิทานพื้นบ้านและในตำนานอุรังคธาตุแล้วได้มีคนผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาอยู่อาศัยอย่างไม่ขาดสาย เนื่องจากรอบๆ หนองหานน้อยมีท้องทุ่งที่กว้างใหญ่ มีป่าไม้แน่นหนา กลุ่มคนเหลานั้นจึงพากันสร้างเมืองที่มั่งคั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ศูนย์กลางของชุมชนแห่งนี้มีชื่อว่า บ้านบึงหม้อ

สมัยรัตนโกสินทร์ตอนกลาง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินครั้งสำคัญ บรรดาบ้านเมืองต่างๆ ในหัวเมืองลาวและทางภาคอีสาน ได้มีใบบอกไปกรุงเทพฯเพื่อขอตั้งขึ้นเป็นบ้านเมืองในพระราชอาณาจักรสยามและมีการเปลี่ยนชื่อบ้านนามเมืองให้ไพเราะขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ทางราชสำนักจะพิจารณาชื่อจากภูมินามดั้งเดิมแล้วนำมาดัดแปลงชื่อเพื่อให้พระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกนามมงคลของบ้านเมือง แล้วจึงมีสารตราตั้งเมืองอนุญาตให้ตั้งเป็นบ้านเมืองที่สำคัญต่อไป บ้านบึงหม้อได้รับการตั้งชื่อนามมงคลจากราชสำนักกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2415 ว่า เมืองกุมภวาปี

ในปี พ.ศ. 2440 รัชการที่ 5 โปรดเกล้าฯให้กระทรวงมหาดไทย รวมเมืองกุมภวาปี หนองหาน หนองบัวลำภู และบ้านหมากแข้ง ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดอุดรธานี เมืองกุมภวาปี จึงมีฐานะเป็นอำเภอ ขึ้นตรงต่อจังหวัดอุดรธานี โดยมีที่ว่าการอำเภอกุมภวาปี ตั้งอยู่ที่บริเวณโรงเรียนชุมชนบ้านน้ำฆ้อง(โรงเรียนอนุบาลกุมภวาปี-ปัจจุบัน) ตำบลพันดอน ปัจจุบันชาวบ้านนิยมเรียกว่า “เมืองเก่า” และมีพระประสิทธิสรรพกร(บุปผา สีหะไตร) เป็นนายอำเภอคนแรก แบ่งการปกครองออกเป็น 5 ตำบลใหญ่ คือ ตำบลปะโค ตำบลพันดอน ตำบลอุ่มจาน ตำบลตูมใต้ และตำบลแชแล มีกำนันตำบลต่างๆ ตามลำดับดังนี้

  • ตำบลปะโค ขุนปะโคคุณากร
  • ตำบลพันดอน ขุนพันดอนดิสาร
  • ตำบลอุ่มจาน ขุนอินทร์อุ่มจาน
  • ตำบลตูมใต้ ขุนตูมคามิน
  • ตำบลแชแล ขุนระบิลแชแล

พ.ศ. 2463 ในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระวรฤทธิฤๅไชย จึงปรากฏหลักฐาน และจากการบันทึกการเสด็จการครวจราชการ ของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนแรก ซึ่งได้มาตรวจราชการมณฑลอุดร และมณฑลอีสาน ได้บันทึกเรื่องการเสด็จตรวจราชการและจัดพิมพ์ไว้ เมื่อปีวอก พ.ศ. 2463 มีความตอนหนึ่งว่า “…ข้ามห้วยอ้ายเต้นถึงเขตรเมืองกุมภวาปี เมืองนี้ยกเอาบ้านบึงหม้อ ตั้งขึ้นเปนเมือง เมื่อรัชกาลที่ 5 พระวรฤทธิฤๅไชยผู้ว่าราชการเมืองกุมภวาปี มารับ…” นอกจากนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ยังได้เสด็จไปเที่ยวรอบหนองหาน และได้ทรงบันทึกเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับหนองหาร (ปัจจุบันเขียน”หนองหาน”) ไว้ว่า “…หนองหารนี้มีชื่อเสียงมาในพงศาวดารเป็นบึงใหญ่กว้างมาก มีชาวบ้านตั้งหาปลาอยู่โดยรอบ ทางเดินรอบหนองหารประมาณสองวัน มีท่าลงหนองที่บ้านเชียงแหว ระยะทางห่างจากเมืองกุมภวาปี 200 เส้น มีเกาะในหนองหาน เรียกกันว่า “เกาะดอนแก้ว” มีหมู่บ้านและวัดบนเกาะนั้นด้วย น้ำหนองหารที่ไหลลงปาวไปตกลำพาชี เมืองกุมภวาปีมีราษฎรอยู่ประมาณ 6,000 คน มีชาวเมืองนครราชสีมา มาตั้งทำมาค้าขายอยู่หลายครัว…”

ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2468-2472 ร.อ.อ.หลวงนิคมพรรณาเขต (เขียน สีหะอำไพ) นายอำเภอคนที่ 9 ได้ย้ายที่ว่าการอำเภอกุมภวาปีจากบ้านน้ำฆ้อง มาตั้งที่บ้านดงเมือง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “เมืองใหม่” ตำบลตูมใต้ (ตำบลกุมภวาปี ในบัจจุบัน) โดยมีเหตุผล 4 ประการคือ

  1. ที่ตั้งเมืองเก่าเป็นที่ลุ่ม ถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
  2. ที่ตั้งเมืองใหม่ น้ำท่วมไม่ถึง ประกอบกับตั้งอยู่ริมน้ำปาว มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดปี
  3. ที่ตั้งเมืองใหม่ เป็นศูนย์กลางของทุกตำบล เหมาะแก่การขยายชุมชนใหม่ในอนาคต
  4. เพื่อสร้างเมืองใหม่รองรับกับทางรถไฟสายใหม่ ที่แยกจากเส้นทางอุดรธานีผ่านบ้านดงเมือง สู่สกลนครและนครพนม

สมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

  • วันที่ 29 มีนาคม 2450 โอนพื้นที่ตำบลบ้านจำปี ตำบลนายุง ตำบลสาแล ตำบลเชียงแหว และตำบลบ้านอุ่มจาร อำเภอเมืองหนองหาร ไปขึ้นกับ อำเภอกุมภวาปี[1]
  • วันที่ 4 ตุลาคม 2468 ยุบตำบลนาเพ็ญ ไปรวมขึ้นกับตำบลตูมใต้ และโอนหมู่บ้านท่าลี่ บ้านดอกจันทน์ บ้านนาทัน ของตำบลบัวเงิน อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น มาขึ้นกับตำบลตูมใต้ อำเภอกุมภวาปี[2]
  • วันที่ 17 กันยายน 2498 จัดตั้งสุขาภิบาลตูมใต้ ในท้องที่บางส่วนของตำบลตูมใต้[3]
  • วันที่ 30 พฤษภาคม 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลพันดอน ในท้องที่บางส่วนของตำบลพันดอน[4]
  • วันที่ 17 ธันวาคม 2500 ตั้งตำบลโพธิ์ศรีสำราญ แยกออกจากตำบลปะโค[5]
  • วันที่ 16 ธันวาคม 2501 ตั้งตำบลหนองหญ้าไชย แยกออกจากตำบลนายูง[6]
  • วันที่ 31 มีนาคม 2507 ตั้งตำบลห้วยเกิ้ง แยกออกจากตำบลตูมใต้ และ ตั้งตำบลห้วยสามพาด แยกออกจากตำบลอุ่มจาน และ ตั้งตำบลเสอเพลอ แยกออกจากตำบลพันดอน[7]
  • วันที่ 17 สิงหาคม 2508 จัดตั้งสุขาภิบาลห้วยเกิ้ง ในท้องที่บางส่วนของตำบลห้วยเกิ้ง[8]
  • วันที่ 15 พฤศจิกายน 2509 จัดตั้งสุขาภิบาลโพธิศรีสำราญ ในท้องที่บางส่วนของตำบลโพธิศรีสำราญ[9]
  • วันที่ 25 เมษายน 2510 ตั้งตำบลบ้านโปร่ง แยกออกจากตำบลจำปี และ ตั้งตำบลหนองกุงทับม้า แยกออกจากตำบลหนองหญ้าไซ และ ตั้งตำบลบุ่งแก้ว แยกออกจากตำบลสีออ[10]
  • วันที่ 2511 ได้ตั้ง กิ่งอำเภอศรีธาตุ ขึ้นกับอำเภอกุมภวาปี
  • วันที่ 11 มิถุนายน 2511 ตั้งตำบลเวียงคำ แยกออกจากตำบลแชแล[11]
  • วันที่ 29 ตุลาคม 2511 ได้โอนหมู่ 9 (ในขณะนั้น) ของตำบลเวียงคำ อำเภอกุมภวาปี ไปตั้งเป็นหมู่ที่ 10 ตำบลแชแล อำเภอกุมภวาปี[12]
  • วันที่ 24 มิถุนายน 2512 จัดตั้งสุขาภิบาลจำปี ในท้องที่บางส่วนของตำบลจำปี กิ่งอำเภอศรีธาตุ[13]
  • วันที่ 5 สิงหาคม 2512 ตั้งตำบลโนนสะอาด แยกออกจากตำบลโพธิ์ศรีสำราญ[14]
  • วันที่ 20 มกราคม 2513 เปลี่ยนชื่อสุขาภิบาลโพธิศรีสำราญ เป็น สุขาภิบาลโนนสะอาด[15]
  • วันที่ 9 พฤศจิกายน 2514 ตั้งตำบลหนองแสง แยกออกจากตำบลเสอเพลอ ตั้งตำบลนาม่วง แยกออกจากตำบลห้วยสามพาด ตั้งตำบลหัวนาคำ แยกออกจากตำบลนายูง ตั้งตำบลบะยาว แยกออกจากตำบลหนองกุงทับม้า[16]
  • วันที่ 26 ธันวาคม 2515 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลพันดอน[17]
  • วันที่ 28 มิถุนายน 2516 ยกฐานะเป็น อำเภอศรีธาตุ[18]
  • วันที่ 4 กันยายน 2516 ตั้งตำบลแสงสว่าง แยกออกจากตำบลปะโค[19]
  • วันที่ 22 มกราคม 2517 แยกพื้นที่ตำบลโนนสะอาด ตำบลโพธิ์ศรีสำราญ และตำบลบุ่งแก้ว อำเภอกุมภวาปี ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอโนนสะอาด ขึ้นกับอำเภอกุมภวาปี[20]
  • วันที่ 12 เมษายน 2520 ยกฐานะเป็น อำเภอโนนสะอาด[21]
  • วันที่ 1 มกราคม 2524 แยกพื้นที่ตำบลหนองแสง และตำบลแสงสว่าง อำเภอกุมภวาปี ตั้งเป็น กิ่งอำเภอหนองแสง[22]
  • วันที่ 30 มีนาคม 2525 ตั้งตำบลผาสุก แยกออกจากตำบลพันดอน[23]
  • วันที่ 10 ตุลาคม 2529 ตั้งตำบลท่าลี่ แยกออกจากตำบลสีออ[24]
  • วันที่ 31 ธันวาคม 2530 ยกฐานะเป็น อำเภอหนองแสง[25]
  • วันที่ 15 กันยายน 2532 ตั้งตำบลหนองหว้า แยกออกจากตำบลห้วยเกิ้ง และ ตั้งตำบลกุมภวาปี แยกออกจากตำบลตูมใต้[26]
  • วันที่ 11 มีนาคม 2540 ได้จัดตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารพันดอน อ.กุมภวาปี [27]
  • วันที่ 25 มิถุนายน 2540 แยกพื้นที่ตำบลนาม่วง ตำบลห้วยสามพาด และตำบลอุ่มจาน อำเภอกุมภวาปี ไปตั้งเป็น กิ่งอำเภอประจักษ์ศิลปาคม ขึ้นกับอำเภอกุมภวาปี[28]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลตูมใต้ สุขาภิบาลพันดอน และสุขาภิบาลห้วยเกิ้ง เป็นเทศบาลตำบลตูมใต้ เทศบาลตำบลพันดอน และเทศบาลตำบลห้วยเกิ้ง ตามลำดับ
  • วันที่ 11 กันยายน 2543 เปลี่ยนชื่อเทศบาลตำบลตูมใต้ เป็น เทศบาลตำบลกุมภวาปี[29]
  • วันที่ 30 มิถุนายน 2548 กำหนดเขตตำบลในท้องที่อำเภอกุมภวาปี ตำบลกุมภวาปี ให้มีเขตการปกครองรวม 14 หมู่บ้าน ตำบลพันดอน ให้มีเขตการปกครองรวม 20 หมู่บ้าน ตำบลเวียงคำ ให้มีเขตการปกครองรวม 18 หมู่บ้าน ตำบลผาสุก ให้มีเขตการปกครองรวม 10 หมู่บ้าน ตำบลเชียงแหว ให้มีเขตการปกครองรวม 13 หมู่บ้าน ตำบลตูมใต้ ให้มีเขตการปกครองรวม 9 หมู่บ้าน ตำบลหนองหว้า ให้มีเขตการปกครองรวม 11 หมู่บ้าน ตำบลแชแล ให้มีเขตการปกครองรวม 14 หมู่บ้าน ตำบลห้วยเกิ้ง ให้มีเขตการปกครองรวม 8 หมู่บ้าน ตำบลท่าลี่ ให้มีเขตการปกครองรวม 13 หมู่บ้าน ตำบลเสอเพลอ ให้มีเขตการปกครองรวม 19 หมู่บ้าน ตำบลสีออ ให้มีเขตการปกครองรวม 8 หมู่บ้าน และตำบลปะโค ให้มีเขตการปกครองรวม 17 หมู่บ้าน[30]
  • วันที่ 24 สิงหาคม 2550 ยกฐานะเป็น อำเภอประจักษ์ศิลปาคม[31]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอกุมภวาปี ftp://dossier.ogp.noaa.gov/GCOS/WMO-Normals/RA-II/... http://www.kumpawa.com http://www.thaisugarmillers.com/fig%20for%20web/ts... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0001929... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2450/05... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2468/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2498/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2500/D/...