ประวัติ ของ อำเภอขุนหาญ

อำเภอขุนหาญเป็นแหล่งชุมชนเก่าแก่ เป็นพื้นที่ลุ่มของลำห้วยหลายสาขา มีความอุดมสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าชนดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ก่อนเป็นชาวกุยหรือส่วย (ซึ่งได้สืบเชื้อสายกันต่อมาจนถึงปัจจุบัน และมีชาวบ้านที่ใช้ภาษากุยหรือส่วยอยู่มากในตำบลโนนสูง ตำบลโพธิ์กระสังข์ และบางส่วนของตำบลกระหวัน) ในยุคต่อมาชาวขอมหรือชนที่ใช้ภาษาเขมรเข้ามาและกระจายกันตั้งบ้านเรือนจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ และสืบสานประเพณีต่อ ๆ กันมา ส่วนผู้คนที่ใช้ภาษาลาวได้เข้ามาภายหลัง ซึ่งสันนิษฐานว่าเข้ามาตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นยุคที่ทางราชสำนักเวียงจันทน์เกิดความวุ่นวายและผู้คนได้อพยพข้ามลำน้ำโขงมาตั้งหลักแหล่งใหม่ ผู้คนกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งในแถบนี้ คือ (ตามตำนานและเรื่องบอกเล่าของผู้คนสมัยก่อน) กลุ่มของนายหาญ นายเอก นายอุด ซึ่งทั้งสามคนนี้ได้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือน นายหาญได้ไปตั้งหลักแหล่ง ณ บริเวณที่ปัจจุบันอยู่ในเขตบ้านแดง ตำบลขุนหาญ นายเอกไปตั้งที่บ้านตาเอก (ปัจจุบันนี้อยู่ในเขตตำบลกันทรอม) ส่วนนายอุดแยกไปไกลทางทิศตะวันตก ตั้งหลักแหล่งที่ปัจจุบันเรียกว่าบ้านตาอุด เขตอำเภอขุขันธ์

ต่อมาบริเวณแถบนี้ ราชสำนักสยามเรียกว่า "เขมรป่าดง" และได้ตั้งเมืองขุขันธ์ขึ้น โดยขึ้นกับเมืองนครราชสีมา และด้วยเหตุนี้นายหาญจึงมีโอกาสเข้าทำราชการและมีบรรดาศักดิ์เป็น "ขุน" หมู่บ้านที่ท่านอยู่จึงถูกเรียกว่า บ้านขุนหาญ จนกระทั่งมีการจัดรูปแบบการปกครองใหม่ในรูปแบบของจังหวัดและอำเภอ เมืองขุขันธ์จึงถูกยุบเป็นอำเภอขุขันธ์ขึ้นแก่จังหวัดศรีสะเกษ ในระดับตำบล "บ้านขุนหาญ" ซึ่งเป็นบ้านเก่าแก่และเป็นหมู่บ้านใหญ่ จึงได้เอาชื่อ "ขุนหาญ" มาตั้งเป็นชื่อตำบล ต่อมาเมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ประชากรมากขึ้น และเขตรับผิดชอบของอำเภอขุขันธ์ค่อนข้างกว้าง จึงได้ยกเอาตำบลต่าง ๆ ในเขตทางตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอขึ้นเป็นกิ่งอำเภอ โดยเจ้าหน้าที่ผู้ก่อตั้งสมัยนั้นได้เลือกชัยภูมิที่เป็นเนินสูงและมีแหล่งน้ำใหญ่ (หนองสิ) อยู่ใกล้เป็นที่ตั้งที่ว่าการอำเภอ ซึ่งอยู่ในเขตตำบลสิ เดิมทีจะใช้ชื่อกิ่งอำเภอว่า "สิ" ซึ่งฟังแล้วอาจจะไม่เสนาะเท่าใด จึงมีการคิดชื่อกันใหม่ และตกลงกันว่าจะเอาชื่อหมู่บ้านที่เก่าแก่มาตั้งเป็นชื่อกิ่งอำเภอ เมื่อสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่จึงรู้ว่า "บ้านขุนหาญ" ซึ่งอยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันตกของที่ตั้งกิ่งอำเภอ เป็นชุมชนเก่าแก่ย้อนหลังไปถึงยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น จึงได้ยกเอาชื่อ "ขุนหาญ" มาเป็นชื่อกิ่งอำเภอ โดยที่ตั้งไม่ได้อยู่ในเขตตำบลขุนหาญแต่อย่างใด ต่อมาจึงยกฐานะขึ้นเป็นอำเภออย่างสมบูรณ์

ด้วยความหลากหลายของผู้คนหลายเหล่าที่โยกย้ายมาตั้งหลักแหล่งในบริเวณเดียวกัน อำเภอขุนหาญจึงมีทั้งผู้คนที่ใช้ภาษาเขมร ภาษาส่วย และลาวหรืออีสาน อาศัยอยู่กระจัดกระจาย โดยมีประชากรที่ใช้ภาษาเขมรในสัดส่วนที่มากที่สุด ส่วนภาษาลาวนั้นมี 2 สำเสียง คือ

  • สำเนียงดั้งเดิมของลูกหลานที่สืบเชื้อสายมาจากนายหาญ นายเอก และนายอุด ซึ่งกลายเป็นสำเนียงเอกลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ
  • สำเนียงอุบล ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าผู้คนที่ใช้ภาษาลาวสำเนียงอุบลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเขตอำเภอขุนหาญเมื่อใด แต่แน่ชัดว่าเป็นชนกลุ่มหลังสุดที่เข้ามาทำมาหากินในบริเวณนี้ ผู้ที่เข้ามาก่อนตั้งบ้านเรือนในเขตตำบลสิ ส่วนชาวลาวสำเนียงอุบลที่มาหลังสุดไปตั้งหมู่บ้านต่างๆ ที่มีชื่อนำหน้าว่า "ซำ" ในเขตตำบลพราน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีดินอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การทำไร่พืชผลชนิดต่าง ๆ การอยู่รวมกันและติดต่อแลกเปลี่ยนกันของชนหลายเหล่าในเขตอำเภอขุนหาญทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนและซึมซับวัฒนธรรมระหว่างกัน ขนบธรรมเนียมบางอย่างจึงแตกต่างออกไปจากผู้คนในเขตอื่นของจังหวัดศรีสะเกษ โดยเฉพาะผู้คนที่ใช้ภาษาลาวจะรับเอาขนบธรรมเนียมบางอย่างของชาวเขมรและชาวส่วยเข้าแทรกในธรรมเนียมของตน