ประวัติเป็นมา ของ อำเภอจัตุรัส

อำเภอจัตุรัส เดิมมีฐานะเป็นเมืองชื่อ “เมืองสี่มุม” เจ้าเมืองคนแรกคือ “พระนรินทร์สงคราม” มีชื่อเดิมว่า “คำ” หรือชาวบ้านเรียกท่านว่า “อาจารย์คำ”เพราะเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ ทางโหราศาสตร์ และวิชาอาคมอยู่ยงคงกระพัน เป็นชาวลาวอพยพมาจากเวียงจันทน์ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านนารายณ์ เมืองนครราชสีมา (ปัจจุบันอยู่ในท้องที่ตำบลจอหอ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา) ต่อมาได้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่บ้านสี่มุมและเป็นผู้นำหมู่บ้านชื่อบ้านสี่มุม สันนิษฐานว่าตั้งชื่อตามชื่อของแหล่งน้ำที่ชุมชนอาศัย คือ กุดสี่มุม ปัจจุบันอยู่ในท้องที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2311 พระเจ้าตากสินหรือพระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพมาปราบก๊กเจ้าพิมาย ซึ่งมีกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นหัวหน้าก๊ก ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองพิมายและต่อมาได้ยึดเมืองนครราชสีมาเป็นที่ตั้งมั่น เจ้าพิมายให้พระยาวรวงษาธิราชคุมทัพไปตั้งรับเพื่อตีสกัดทัพพระเจ้าตากสินที่ด่านขุนทดและถูกกองทัพ พระเจ้าตากสินตีจนแตกพ่ายในที่สุดในกรณีศึกครั้งนี้อาจารย์คำผู้นำหมู่บ้านสี่มุมได้นำชาวบ้านเข้าสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าตากสินและขออาสาเป็นกองกำลังร่วมสู้รบในกองทัพหลวงด้วย พระเจ้าตากสินทรงยินดีรับไว้และให้เป็นกองกำลังเข้าตีด่านจอหอจนแตกพ่ายสามารถยึดเมืองพิมายและเมืองนครราชสีมาคืนมาได้ในครั้งเข้าตีด่านจอหอ กองกำลังของบ้าน สี่มุมโดยการนำของอาจารย์คำได้แสดงความสามารถในการรบอย่างกล้าหาญ เข้มแข็งเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าตากสินเป็นอย่างมาก เมื่อเสร็จการศึกสงครามจึงได้ปูนบำเหน็จความชอบให้อาจารย์คำเป็น “พระนรินทร์สงคราม”ยกฐานะบ้านสี่มุมขึ้นเป็น “เมืองสี่มุม” ให้ปกครองเมืองสี่มุมให้ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมา นอกจากนี้แล้วอาจารย์คำและกองกำลังบ้านสี่มุมยังได้เป็นกำลังสำคัญของกองทัพกรุงธนบุรี ในสงครามปราบก๊กต่างๆ ตลอดทั้งเป็นบุคคลสำคัญในกองทัพของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในการปราบปรามหัวเมืองฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย เมืองสี่มุมมีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมาตามลำดับ ดังนี้

  1. พระนรินทร์สงคราม (อาจารย์คำ)
  2. พระยานรินทร์สงคราม (ทองคำ)
  3. พระยานรินทร์สงคราม (บุตร)
  4. พระยานรินทร์สงคราม (เสา)
  5. พระยานรินทร์สงคราม (บุญเฮ้า)
  6. พระยานรินทร์สงคราม (ทองดี) เจ้าเมืองสี่มุมคนสุดท้าย และนายอำเภอคนแรกของอำเภอจัตุรัส
ศาลเจ้าพ่อพญานรินทร์สงคราม

การย้ายเมืองสี่มุม

เมืองสี่มุมก่อนที่จะมาตั้งอยู่ที่อำเภอจัตุรัสปัจจุบันนี้มีการย้ายเมืองหลายครั้ง แต่ถึงจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็ยังใช้ชื่อเมืองสี่มุมเหมือนเดิม มีการย้าย ดังนี้ ครั้งที่ 1 ในสมัยพระยานรินทร์สงคราม ย้ายจากที่ตั้งเดิมบ้านสี่มุม (สระสี่เหลี่ยม) มาตั้งบริเวณที่เป็นบ้านหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส ในปัจจุบันนี้ ครั้งที่ 2 ในสมัยพระยานรินทร์สงคราม (บุญเฮ้า) ย้ายจากเมืองสี่มุม (หนองบัวใหญ่) มาตั้งที่บ้านกอกจนถึงปัจจุบันที่ตั้งเมืองอยู่ที่บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส ซึ่งที่ตั้งของอำเภอจัตุรัสนับถึงปัจจุบันก่อตั้งมาแล้ว 252 ปี

การยุบเมืองสี่มุม

สมัยพระยานรินทร์สงคราม (ทองดี) เป็นเจ้าเมือง ปี พ.ศ. ๒๔๔๐ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองส่วนภูมิภาคหรือหัวเมืองต่างๆ โดยทำการยกเลิกระบบเจ้าเมือง (อาญาสี่) ของหัวเมืองลาวทั่วภาคอีสาน แล้วเปลี่ยนมาเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล กล่าวคือ จัดหัวเมืองต่างๆ ตั้งเป็นมณฑล, จังหวัด, อำเภอ, ตำบล และหมู่บ้าน เมืองสี่มุมที่ขึ้นตรงต่อเมืองนครราชสีมาจึงถูกยุบและจัดตั้งเป็นอำเภอขึ้นมาแทน ชื่อว่า “อำเภอจัตุรัส” ขึ้นตรงต่อจังหวัดชัยภูมิ ส่วนเจ้าเมืองก็เปลี่ยนเป็น “นายอำเภอ” โดยแต่งตั้งให้พระยานรินทร์สงคราม (ทองดี) เจ้าเมืองสี่มุมคนที่ ๖ เป็นนายอำเภอ ท่านจึงนับเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอจัตุรัสตั้งแต่นั้นมา

อำเภอจัตุรัส ในสมัยนั้นมีพื้นที่อาณาเขตกว้างขวางมาก คือ มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 6 อำเภอในปัจจุบัน ต่อมาทางราชการได้แบ่งแยกพื้นที่ของอำเภอออกเป็นอำเภอต่าง ๆ ดังนี้

  1. อำเภอบำเหน็จณรงค์ แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวนเนื้อที่ 1,435.904 ตารางกิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2486
  2. อำเภอเทพสถิต แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอบำเหน็จณรงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของอำเภอจัตุรัส จำนวนเนื้อที่ 875.604 ตารางกิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2519
  3. อำเภอหนองบัวระเหว แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 2 ตำบล (ตำบลหนองบัวระเหวและตำบลวังตะเฆ่) เนื้อที่ 841.782 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2521
  4. อำเภอเนินสง่า แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 4 ตำบล (ตำบลหนองฉิม ตำบลกะฮาด ตำบลตาเนิน และตำบลรังงาม) เนื้อที่ 222.03 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535
  5. อำเภอซับใหญ่ แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 3 ตำบล (ตำบลซับใหญ่ ตำบลท่ากูบ และตำบลตะโกทอง) เนื้อที่ 255 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
  6. อำเภอจัตุรัส ปัจจุบันเหลือจำนวนเนื้อที่ 690 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 431,250 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 119 หมู่บ้าน