ประวัติ ของ อำเภอชะอวด

ชะอวด เป็นตำบลหนึ่งที่ชื่อของตำบล เหมือนกับชื่อของอำเภอ มีความเป็นมา 2 ประการ คือ มาจากคำว่า "เชือกอวด" หรือ "ย่านอวด" และมาจากคำว่า " เจ็กฮวด" หรือ "เจ้าฮวด" พื้นที่บริเวณนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้ หลากหลายพันธุ์ ตามลักษณะของพื้นที่ทางภาคใต้ จะมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี ก่อนที่ป่าไม้เหล่านั้นจะถูกแผ้วถางทำลาย ในพื้นที่ป่าถิ่นแถบนี้จะมีเถาวัลย์หลากหลายชนิด เถาวัลย์ชนิดหนึ่งมีขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก มีความเหนียวแน่นทนทาน ชาวบ้านนิยม นำมาใช้ผูกมัดสิ่งของ เรียกกันว่า "เชือกอวด" หรือ "ย่านอวด" หรือ "ต้นอวด" การตัดย่านอวดนั้น ค่อนข้างลำบาก เพราะต้องดึง ออกจากการเกี่ยวพันกับต้นไม้อื่น คนตัดจึงต้องออกแรงดึงซึ่งภาษาใต้ หรือภาษาไทยถิ่นใต้ เรียก "การดึง" ว่า "ชะ" ดังนั้นโดยรวมความหมายคำว่า "ชะอวด" ก็คือ การดึงย่านอวดให้หลุดออกมาจากต้น กิ่ง ก้าน ของต้นไม้อื่นที่ย่านอวดเกี่ยวพันอยู่ และหากมีรังมดแดง อยู่ข้างบน คนที่ ชะ หรือ ดึง ย่านอวด ต้องต่อสู้กับมดแดงอีกทางหนึ่งด้วย ท้องถิ่นชะอวด เป็นบริเวณที่มีย่านอวดมากเป็นพิเศษ และ ชาวบ้านก็จะไปตัดมาใช้สอยอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อท้องถิ่นของตนเองว่า "ชะอวด"

( ข้อมูล จาก อบต. ชะอวด)