ภาษาและวัฒนธรรม ของ อำเภอชัยบาดาล

ภาษาถิ่น

ประชาชนในอำเภอชัยบาดาลส่วนใหญ่จะย้ายจากจังหวัดอื่น ๆ เข้าประกอบอาชีพในอำเภอชัยบาดาล เช่น มาจากกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับผลกระทบจากการยกเลิกรถสามล้อถีบ และทางรัฐบาลจัดสรรที่ทำกินให้ในเขตนิคมสหกรณ์ ตำบลท่าดินดำ มาจาก[จังหวัดนครสวรรค์ตั้งถิ่นฐานอยู่ตำบลซับตะเคียน มาจากจังหวัดนครนายกตั้งถิ่นฐานอยู่ตำบลลำนารายณ์ มาจากจังหวัดนครราชสีมาตั้งถิ่นฐานอยู่ตำบลบัวชุม ตำบลหนองยายโต๊ะ และตำบลท่าดินดำ ทั้งสามตำบลจะมีประชากรร่วมกันเกินกึ่งหนึ่งของอำเภอชัยบาดาล จึงทำให้อำเภอชัยบาดาลมีภาษาท้องถิ่นเป็นภาษาไทโคราช(ไทยเบิ้ง) และภาษาลาวแง้ว

ภาษาไทยเบิ้งจะมีลักษณะคล้ายภาษาไทยกลาง มีหน่วยเสียงพยัญชนะ 21 เสียง หน่วยเสียงสระ 21 หน่วยเสียง และหน่วยเสียงวรรณยุกต์ 5 หน่วยเสียง สันนิษฐานว่าภาษาไทยเบิ้งคือภาษาไทยโคราช คำว่า เบิ้ง เป็นคำที่ชาวอีสานกลุ่มอื่น เช่น ลาว เขมร ใช้เรียกชาวไทยโคราช เมื่อชาวไทยโคราชอพยพมาอยู่ถิ่นอื่นยังคงใช้ภาษาไทยโคราชและเรียกกลุ่มของตนว่าไทยเบิ้ง ภาษาที่ใช้จึงเรียกว่าภาษาไทยเบิ้ง ที่สำคัญคือมีเสียงลงท้ายประโยคโดยเฉพาะได้แก่ ด๊อก (ดอก) แหล่ว (แล้ว) เบิ้ง (บ้าง) เหว่ย (หว่า)

การละเล่น

รำโทนที่ตำบลบัวชุมและตำบลหนองยายโต๊ะ รำโทนเป็นการแสดงพื้นบ้านที่นิยมเล่นกันทั่วประเทศไทย ในสมัยที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี รำโทนได้รับการเชิดชูให้เป็นศิลปะประจำชาติอย่างหนึ่งในสมัยนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ารำโทนเกิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้ริเริ่ม แต่ผู้ที่นิยมเล่นรำโทนคือหนุ่มสาวชาวบ้าน กล่าวกันว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้คนคอยแต่จะอพยพหนีภัยกัน ในยามค่ำคืนจะมืดไปทั่วทุกหนแห่งเนื่องจากรัฐบาลห้ามจุดไฟ ห้ามชุมนุม ประชาชนเกิดความเหงาจึงได้คิดเล่นรำโทนขึ้น วิธีเล่นคือจุดตะเกียงไว้ตรงกลางลาน ผู้แสดงยืนล้อมวงร้องเพลงเกี้ยวพาราสีกันด้วยจังหวะท่วงทำนองที่สั้นๆ ง่าย ๆ ร้องซ้ำ ๆ กันหลายเที่ยว

ประเพณี

  • ประเพณีการเลี้ยงเจ้าบ้าน เป็นประเพณีที่ชาวบ้านในอำเภอชัยบาดาลได้กระทำติดต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ เชื่อกันว่าเมื่อได้กระทำพิธีนี้แล้วจะทำให้ครอบครัวได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ประเพณีนี้จัดทำในวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ชาวบ้านจะไปพร้อมกันที่ศาลเจ้าประจำหมู่บ้านในเวลา 08.00-09.00 น. ใครไปก่อนก็เลี้ยงก่อน ไม่ต้องรอกัน โดยจะต้องเตรียมสิ่งของต่าง ๆ ได้แก่ ข้าวดำ ข้าวแดง (ใช้ข้าวสุกย้อมสีดำ สีแดง) รูปสัตว์ รูปคน (ใช้ดินหรือแป้งปั้นให้เท่ากับจำนวนคนในบ้าน และรูปสัตว์ใช้เฉพาะสัตว์สี่เท้า) ข้าวสาร พริกเม็ด เกลือก้อน เงิน 12 ทอง 15 (ใช้เป็นแป้งปั้นเป็นรูปสตางค์) ธูป เทียน เหล้า บุหรี่ ด้ายสายสิญจน์สำหรับผูกข้อมือ ถาด กระด้ง หรือเข่งปลาทู

เมื่อถึงวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 ทุกคนจะนำสิ่งของต่าง ๆ ดังกล่าวใส่ถาด กระด้ง เข่งปลาทู หรือภาชนะอื่น ๆ ก็ได้ ไปที่ศาลเจ้า จุดธูปเทียนบอกเล่าให้มารับสิ่งของที่ตนเตรียมไป จุดบุหรี่ แล้วเทเหล้าใส่ในโอ่งที่มีอยู่ในศาล เสร็จแล้วก็ขอศีลขอพร เวลากลับให้ขอด้ายสายสิญจน์จากท่าน (สายสิญจน์เตรียมไปนั่นเอง) เพื่อนำไปผูกข้อมือลูกหลาน ก่อนกลับใช้มีดขีดเส้นข้างหน้าระหว่างตัวเองกับศาล เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ให้ต่างคนต่างอยู่ไม่ให้รบกวนกัน ส่วนใหญ่ผู้ที่ไปทำพิธีเลี้ยงเจ้าบ้านมักเป็นแม่บ้านหรือผู้หญิงที่มีอายุ

  • ประเพณีสงกรานต์ วันที่ 13 เมษายน เป็นวันสงกรานต์และวันขึ้นปีใหม่ของไทย ชาวไทยจะทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำอวยพรผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล เนื่องจากเดือนเมษายนเป็นช่วงฤดูร้อน น้ำในคลอง ห้วย หนอง แห้งแล้ง ทำให้ปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวเดือดร้อน ดังนั้นวันสงกรานต์จึงนิยมปล่อยปลาลงในแม่น้ำลำคลอง
  • ประเพณีของอำเภอชัยบาดาล มีจัดกันทั่วไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ลักษณะของงานนอกจากจะเป็นงานบุญแล้ว ยังเป็นงานที่คนหนุ่มคนสาวได้สนุกสนานเพราะมีการฟื้นฟู นำการละเล่นพื้นบ้านมาเล่น เช่น ชักเย่อ ลูกช่วง ฯลฯ การจัดงานที่หน้าที่ว่าการอำเภอชัยบาดาล เทศบาลตำบลลำนารายณ์ร่วมกับอำเภอและสภาวัฒนธรรมอำเภอ จัดงานสงกรานต์ขึ้นเป็นประจำทุกปี งานเริ่มตั้งแต่ตอนเช้าทำบุญตักบาตรข้าวสาร อาหารแห้ง ภาคบ่ายขบวนแห่นางสงกรานต์ของหน่วยงานและตำบลต่าง ๆ ประกวดนางสงกรานต์แต่งกายงามแบบไทย สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัวขอพรผู้อาวุโส และการแสดงดนตรี
  • ประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ (ปุนเท่าก๊ง ปุนเท่าม้า) ของคนไทยเชื้อสายจีนในเขตเทศบาลตำบลลำนารายณ์ เป็นงานประจำปีที่จะจัดขึ้นหลังจากวันตรุษจีนผ่านไปแล้ว 5 วันและจะมีขบวนแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ในวันที่ 6 หลังจากวันตรุษจีน ซึ่งจะตรงกับประมาณปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
สภาพของพื้นที่อำเภอชัยบาดาล ในฤดูฝน

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอชัยบาดาล //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0E/0014... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2461/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2484/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2495/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2503/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2504/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2505/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2505/D/...