ประวัติศาสตร์ ของ อำเภอตระการพืชผล

อำเภอตระการพืชผล เดิมมีฐานะเป็นเมือง ชื่อเมืองตระการพืชผล ตั้งขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมๆกับการตั้งเมืองพิบูลมังสารหาร และเมืองมหาชนะชัย กล่าวคือ ใน พ.ศ. 2406 พระพรหมราชวงศา (กุทอง)เจ้าเมืองอุบลราชธานี คนที่ 3 (พ.ศ. 2383 - 2406) เห็นว่าบ้านสะพือเป็นหมู่บ้านเก่าแก่และเป็นชุมชนขนาดใหญ่มีความเหมาะสมที่จะตั้งขึ้นเป็นเมือง จึงมีใบขอกราบเรียนเจ้าพระยากำแหงสงคราม เจ้าเมืองนครราชสีมา เพื่อนำความกราบบังคมทูล ขอตั้งบ้านสะพือขึ้นเป็นเมือง พระบาทสมเด็จ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาดโปรดเกล้าฯให้ตั้งบ้านสะพือ เป็นเมืองตระการพืชผล ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี เมื่อวันอาทิตย์ แรม 11 ค่ำ เดือน 12 จ.ศ. 1225 (พ.ศ. 2406) และโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ท้าวสุริยวงศ์ (อ้ม) เป็นพระอมรดลใจเจ้าเมือง ให้ท้าวพรหม (บุตร) เป็นอุปฮาดท้าวสีหาจักร (ฉิม) เป็นราชวงศ์ ท้าวกุลบุตร (ท้าว) เป็นราชบุตร

บ้านสะพือที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นเมืองตระการพืชผลในครั้งนั้น มีฐานะเป็นเมืองที่สมบูรณ์ เพราะมีการตั้งเจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ ราชบุตร ซึ่งเป็นคณะผู้ปกครองสูงสุดของเมือง ที่เรียกว่า คณะ "อาชญาสี่" ในปี พ.ศ. 2430 เมืองตระการพืชผล ต้องส่งส่วยให้เมืองราชธานี(กรุงเทพ) จำนวนเงิน 1,388 บาท

เมืองตระการพืชผล คงฐานะเป็นเมืองและตั้งอยู่ที่บ้านสะพือมาเป็นเวลานานพอสมควร แม้ว่าจะมีการปรับปรุงการปกครองในบริเวณนี้หลายครั้ง กระทั่งปี พ.ศ. 2440 (ร.ศ. 116) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯให้ประกาศใช้ " พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ. 116 " ซึ่งมีผลใช้บังคับทั่วราชอาณาจักร กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการหัวเมืองมณฑลอิสาน จึงได้ปรับปรุงการปกครองในภูมิภาคนี้เป็นการใหญ่ โดยให้ยุบเมืองเล็กลงเป็นอำเภอ สำหรับเมืองตระการพืชผล ก็มีฐานะเป็นอำเภอขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี มณฑลอิสานตั้งแต่นั้นมา สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอนั้น ในปี ร.ศ. 121 (พ.ศ. 2445) นายอำเภอตระการพืชผล คือ ท้าวสุริยะ (มั่น)

อำเภอตระการพืชผล คงสภาพเป็นอำเภอได้ไม่นาน ในปี พ.ศ. 2451 ทางราชการได้มีการปรับปรุงการปกครองในส่วนภูมิภาคครั้งใหญ่ อาจเนื่องจากกรณีเกิด ผีบาป - ผีบุญ ในบริเวณบ้านสะพือ ในปี พ.ศ. 2444 - 2445 ก็เป็นได้ ทางราชการจึงได้รวมอำเภอตระการพืชผล และอำเภอพนานิคม เข้าด้วยกัน เรียกชื่อว่า อำเภอพนานิคม โดยตั้งที่ว่าการอำเภอ ที่อำเภอพนานิคม บ้านสะพือที่เคยมีฐานะเป็นเมืองตระการพืชผล หรือฐานะเป็นอำเภอตระการพืชผล ก็กลายเป็นบ้านสะพือ ตำบลสะพือ ตั้งแต่บัดนั้นมา

ใน พ.ศ. 2457 ทางราชการเห็นว่า ทำเลที่ตั้งที่ว่าการอำเภอพนานิคมไม่ค่อยเหมาะสม จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอพนานิคม มาตั้งที่บ้านขุหลุ ตำบลขุหลุ แต่ยังคงเรียกชื่ออำเภอพนานิคมอยู่เช่นเดิม เพื่อให้ชื่ออำเภอเหมาะสมกับสถานที่ตั้งอย่างแท้จริง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอขุหลุ เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. 2460

ในปี พ.ศ. 2482 ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอขุหลุเป็นอำเภอพนานิคมอีกครั้ง จนในปี พ.ศ. 2483 จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอำเภอตระการพืชผล เพื่อความถูกต้องตามทางประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2494 ทางราชการได้จัดตั้งกิ่งอำเภอพนานิคม (อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญในปัจจุบัน) ขึ้นใหม่ โดยแยกท้องที่ 5 ตำบลที่เคยอยู่ในบริเวณอำเภอพนานิคมมาก่อนมาขึ้นสังกัดกิ่งอำเภอพนานิคมที่ตั้งขึ้นใหม่ ส่วนอำเภอตระการพืชผลยังคงมีฐานะเป็นอำเภอตระการพืชผล มาจนถึงปัจจุบัน

  • วันที่ 12 ตุลาคม 2456 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภออุดรอุบล จังหวัดอุบลราชธานี มณฑลอุบลราชธานี เป็น อำเภอเกษมสีมา และเปลี่ยนแปลงชื่ออำเภออำเภอปจิมอุบล จังหวัดอุบลราชธานี มณฑลอุบลราชธานี เป็น อำเภอตระการพืชผล[2]
  • วันที่ 29 เมษายน 2460 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอพนานิคม จังหวัดอุบล มณฑลอุบล เป็น อำเภอขุหลุ[3]
  • วันที่ 30 เมษายน 2483 เปลี่ยนแปลงชื่ออำเภอพนานิคม จังหวัดอุบลราชธานี เป็น อำเภอตระการพืชผล[4] อีกครั้ง
  • วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลกุศกร แยกออกจากตำบลโคกจาน ตั้งตำบลไหล่ทุ่ง แยกออกจากตำบลขุหลุ ตำบลนาสะไม และตำบลขามเปี้ย ตั้งตำบลสะพือ แยกออกจากตำบลตระการ ตั้งตำบลกาบิน แยกออกจากตำบลเป้า ตั้งตำบลนาพิน แยกออกจากตำบลเซเป็ด และตำบลขุหลุ[5]
  • วันที่ 30 มกราคม 2494 แยกพื้นที่ตำบลพนา ตำบลจานลาน ตำบลไม้กลอน และตำบลห้วย อำเภอตระการพืชผล มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอพนา ขึ้นกับอำเภอตระการพืชผล[6]
  • วันที่ 6 มกราคม 2496 ตั้งตำบลโนนกุง แยกออกจากตำบลตากแดด[7]
  • วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2496 ตั้งตำบลลือ แยกออกจากตำบลห้วย[8]
  • วันที่ 28 สิงหาคม 2499 โอนพื้นที่หมู่ 18,19,20 (ในขณะนั้น) ของตำบลเกษม ไปขึ้นกับตำบลเป้า และโอนพื้นที่หมู่ 8 บ้านดอนใหญ่ (ในขณะนั้น) ของตำบลนาพิน ไปตั้งเป็นหมู่ 13 ของตำบลขุหลุ[9]
  • วันที่ 28 พฤศจิกายน 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลพนา ในท้องที่บางส่วนของตำบลพนา[10]
  • วันที่ 7 มกราคม 2500 จัดตั้งสุขาภิบาลตระการพืชผล ในท้องที่บางส่วนของตำบลขุหลุ[11]
  • วันที่ 22 กรกฎาคม 2501 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอพนา อำเภอตระการพืชผล เป็น อำเภอพนา[12]
  • วันที่ 23 พฤษภาคม 2504 ตั้งตำบลแก่งเค็ง แยกออกจากตำบลเกษม ตำบลคอนสาย และตำบลข้าวปุ้น[13]
  • วันที่ 29 กรกฎาคม 2512 ตั้งตำบลโนนสวาง แยกออกจากตำบลข้าวปุ้น[14]
  • วันที่ 27 กรกฎาคม 2514 แยกพื้นที่ตำบลข้าวปุ้น ตำบลกาบิน ตำบลแก่งเค็ง และตำบลโนนสวาง อำเภอตระการพืชผล มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอกุดข้าวปุ้น ขึ้นกับอำเภอตระการพืชผล[15]
  • วันที่ 12 กันยายน 2521 ตั้งตำบลหนองเต่า แยกออกจากตำบลเป้า[16]
  • วันที่ 25 มีนาคม 2522 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอกุดข้าวปุ้น อำเภอตระการพืชผล เป็น อำเภอกุดข้าวปุ้น[17]
  • วันที่ 9 กันยายน 2523 ตั้งตำบลถ้ำแข้ แยกออกจากตำบลกระเดียน และตำบลคอนสาย[18]
  • วันที่ 4 กันยายน 2527 ตั้งตำบลท่าหลวง แยกออกจากตำบลโนนกุง[19]
  • วันที่ 31 กรกฎาคม 2530 ตั้งตำบลห้วยฝ้ายพัฒนา แยกออกจากตำบลตากแดด[20]
  • วันที่ 21 ตุลาคม 2531 ตั้งตำบลกุดยาลวน แยกออกจากตำบลเกษม[21]
  • วันที่ 17 สิงหาคม 2533 ตั้งตำบลบ้านแดง แยกออกจากตำบลคอนสาย[22]
  • วันที่ 8 ตุลาคม 2534 ตั้งตำบลคำเจริญ แยกออกจากตำบลขุหลุ[23]
  • วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลตระการพืชผล เป็นเทศบาลตำบลตระการพืชผล
  • วันที่ 31 ธันวาคม 2545 ยุบองค์การบริหารส่วนตำบลขุหลุ รวมกับเทศบาลตำบลตระการพืชผล[24]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อำเภอตระการพืชผล //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/0011824... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2456/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2460/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2483/A/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2490/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2494/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2496/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2496/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2499/D/...